In News

ปลัดมท.นำ'โยธาฯ-ท้องถิ่น-3ผู้ว่าฯตอ.' ทำเอ็มโอยูกับอีอีซีเรื่องการขุดดิน-ถมดิน



ปลัดมหาดไทยนำอธิบดีกรมโยธาฯ - กรมท้องถิ่นฯ และผู้ว่าฯ 3 จังหวัดภาคตะวันออกจับมือสำนักงาน EEC ร่วมลงนาม MOU ด้านการขุดดิน-ถมดินเพื่อส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

กรุงเทพฯ-ปลัดมหาดไทยนำอธิบดีกรมโยธาฯ - กรมท้องถิ่นฯ และผู้ว่าฯ 3 จังหวัดภาคตะวันออกจับมือสำนักงาน EEC ร่วมลงนาม MOU ด้านการขุดดิน-ถมดินเพื่อส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ย้ำ “เป็นจุดเริ่มต้นการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ยังผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 66 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแจ้งขุดดินและถมดินสำหรับการดำเนินโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดินและการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารสำหรับการดำเนินโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง โดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ร่วมลงนาม โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับกรม และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ สื่อมวลชน และภาคีเครือข่าย ร่วมพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC และคณะเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้โอกาสกระทรวงมหาดไทยได้เป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) ในการพัฒนาพื้นที่สำคัญให้สามารถดึงดูดใจนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุน ซึ่งเป็นโครงการที่ทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า Hi-tech ขั้นสูง หรือผลิตภัณฑ์สินค้าอื่น ๆ เพื่อที่จะทำให้คนไทยได้มีโอกาสทั้งเรื่องของการรับและถ่ายทอด High technology และได้มีโอกาสในการมีงาน มีอาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ

จากการหารือข้อราชการร่วมกับท่านเลขาธิการ EEC ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารพื้นที่พิเศษนี้ โดยใช้กฎหมายพิเศษซึ่งเป็นกฎหมายที่มีการกำหนดพื้นที่เฉพาะเพื่อทำให้ราชการบริหารส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งการดูแลโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างอาคาร สถานประกอบการหรือโรงงานต่าง ๆ ซึ่งต้องเริ่มต้นมาจากการขุดดินและถมดิน จึงเป็นที่มาของการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารใน 3 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการในพื้นที่ มาร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมการบูรณาการในวันนี้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้ความสำคัญกับหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นการพัฒนาตามจุดมุ่งหมายของการกำหนดให้มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าช่วงเริ่มต้นจะมีความยากลำบากไม่มากก็น้อย และในวันนี้เป็นโอกาสพิเศษที่เราจะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนขนาดใหญ่ ตลอดจนถึงขนาดกลางในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ประกอบไปด้วยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 6 กรม และ 6 รัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล มีความยินดีที่จะสนับสนุนให้ EEC ไม่ได้เพียงแต่มุ่งเน้นความสำคัญของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่หมายความรวมไปถึง “การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่” ที่เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่เราสนับสนุนอย่างเต็มที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อผลประโยชน์โดยตรงต่อพี่น้องประชาชน

"ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่กรุณาและให้เกียรติเดินทางมาที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อร่วมกันเริ่มต้นความสำเร็จ และขอให้ความสำเร็จที่เป็นจุดเริ่มต้นจากการลงนาม MOU ร่วมกันในวันนี้ จะเป็นความสำเร็จที่ขยายผลส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกและประเทศไทยโดยรวม ทำให้การส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการดำเนินการของผู้ประกอบการ อันมีจุดเริ่มต้นจากการปฏิบัติงานพื้นฐานตามกฎหมายขุดดินและถมดินสำหรับการดำเนินโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดินและการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารสำหรับการดำเนินโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง บรรลุตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์อย่างสมบูรณ์เพื่อประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงในวันนี้ จะทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ในอนาคต ที่จะเป็นการสนับสนุนในการจัดตั้งโรงงาน สถานประกอบการ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีกฎหมายที่มีการกำหนดอำนาจเฉพาะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างอาคาร จึงต้องอาศัยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) เพื่อจะได้สนับสนุนในการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างรวดเร็วตามเป้าหมาย เพราะประโยชน์ของประเทศเกิดจากการลงทุนและการลงทุนต้องเกิดจากนักลงทุน ซึ่งหากทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะเป็นผลดีต่อพี่น้องประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดังนั้นการลงทุนให้รวดเร็ว คือ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้กับนักลงทุนต่าง ๆ จึงต้องหวังพึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนกรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต่อไปในอนาคตเราจะต้องมีความเกี่ยวข้องและต้องหวังพึ่งกันและกันในอีกหลายเรื่อง ขอขอบคุณในความกรุณาและไมตรีจิตและหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามิตรภาพไมตรีจิตนี้จะอยู่ต่อไป เพื่อจะได้เห็นคนมาลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของเราเพื่อประเทศของเรา

นายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การลงนามในวันนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทย รวมไปถึงเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนใน 3 จังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งการจะขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลในเรื่องกฎหมาย ทั้งในเรื่องของที่ดินและการก่อสร้างอาคาร พร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างเต็มที่ โดยบูรณาการร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของเรา คือ ประโยชน์สูงสุดของประชาชน

นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและประชาชนทุกคน ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าหน้าที่ในการดูแลเรื่องการออกใบอนุญาตการควบคุมอาคาร ซึ่งเราพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสดีในการสร้างความรับรู้โดยให้ส่วนราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้ประกอบการเอกชน ได้มาร่วมกันประกาศและเป็นสักขีพยานในการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อประโยชน์ของประเทศ

นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีมุ่งเน้นการขับเคลื่อนพัฒนาตามแนวทาง EEC อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การสร้างความรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เรื่อง EEC โดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อจัดทำ Smart City การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รวมไปถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างท่าเรือแหลมฉบัง การขยายนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งการบูรณาการก็จะช่วยสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนทุกคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เกิดความชัดเจน ก็จะเกิดการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเดิมเป็นเขตพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งได้พัฒนามาสู่จังหวัดอุตสาหกรรมควบคู่กับเกษตรกรรมมาโดยตลอด จนมาถึงการเข้าสู่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีทั้งการจัดสร้างสนามบินอู่ตะเภา การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด การก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) นี้จะเป็นการบูรณาการร่วมมือในทุกมิติซึ่งจะคำนึงถึงผลกระทบของพี่น้องประชาชนในทุกด้าน จึงเป็นหน้าที่ของส่วนราชการในการสร้างความรู้และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เพื่อให้การทำงานดังกล่าวราบรื่นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติ