In Thailand

ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่สุดปังชนะเลิศ ประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน



นนทบุรี-ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 2กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ พร้อมคณะข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด เข้ารับพระราชทานรางวัล ชนะเลิศ การประกวดผ้าไหม ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ประเภท ผ้าทอยกใหญ่ ระดับประเทศ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566ภายใต้แนวคิด “ไหมไทยล้ำค่า สายใยแห่งภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล”ณ ฮอลล์6-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายอายุตม์ฯ กล่าวว่าด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหมจัดการประกวดผ้าไหม ตรานกยูง ชิงรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566 ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย พร้อมผลักดันมาตรฐานไหมไทย มุ่งสร้างชื่อเสียงสู่สากล สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในครั้งนี้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้เป็นหนึ่งในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและร่วมถวายรายงานในขณะสมเด็จพระกนิษฐาราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการกรมราชทัณฑ์โครงการคืนคนดีสังคมตามพระราชดำริฯด้วยโครงการฝึกวิชาชีพหม่อนไหมในราชทัณฑ์เรือนจำ/ทัณฑสถานในภาคเหนือแบบครบวงจรซึ่งได้แก่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง เรือนจำจังหวัดลำพูน และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ร่วมกันหารือในประเด็นความเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการผลิตเส้นไหมของทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง เพื่อส่งให้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่และเรือนจำจังหวัดลำพูนใช้ในการทอผ้า ตลอดจนการจัดทำโมเดลหม่อนไหมในราชทัณฑ์แบบครบวงจร(ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ) โดยนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือภายใต้ความร่วมมือของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อนกระบวนการคืนคนดีสู่สังคมด้วยอาชีพด้านหม่อนไหมแบบครบวงจร

ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีเป้าหมายเพื่อขายรัง สาวเส้นขายและสาวเส้นเพื่อส่งกระจายไปให้เรือนจำอื่นๆ (ต้นน้ำ) การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้า มีเป้าหมายเพื่อเป็นจุดสาธิตการเรียนรู้ด้านหม่อนไหมและการทอผ้ายกดอกลำพูนให้ได้การรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน (กลางน้ำ) จนถึงการทอผ้าและการแปรรูปผ้าไหม มีเป้าหมายเพื่อทอผ้ายกดอกลำพูนให้ได้การรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน และแปรรูปผ้าไหมให้เหมาะสมกับตลาด (ปลายน้ำ) นอกจากนี้ยังร่วมกันติดตามผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพด้านหม่อนไหมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

นายอายุตม์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลความสำเร็จที่ผ่านมา ได้มีการฝึกวิชาชีพด้านหม่อนไหมแก่ผู้ต้องขังไปแล้วกว่า 200 คน ซึ่งจากการติดตามผู้ที่พ้นโทษออกไปในปี 2566 พบว่า มีผู้ที่นำองค์ความรู้ด้านการทอผ้าไหมไปต่อยอดประกอบเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว จำนวน 15 ราย ส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกับครอบครัว อยู่ร่วมกับสังคมภายนอกอย่างปกติสุขและขยายผลอาชีพสู่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม