In News

การเคหะแห่งชาติผนึกธอส.ทำเอ็มโอยูร่วม หนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยการเคหะฯ



กรุงเทพฯ-พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและโครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนของการเคหะแห่งชาติ ระหว่างการเคหะแห่งชาติกับ ธอส. เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ก.ย.2566 ณ ห้องประชุมสันทนาการ อาคาร 5 การเคหะแห่งชาติ สำนักงานใหญ่

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและโครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนของการเคหะแห่งชาติ ระหว่างการเคหะแห่งชาติกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดย นางฐิตาภรณ์  ลาภเกียรติเสรี รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ลงนามร่วมกับนางภานิณี  มโนสันติ์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานสินเชื่อ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานกิจการนโยบายสินเชื่อและภาครัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมสันทนาการ ชั้น 3 อาคาร 5 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นหน่วยงานที่บูรณาการการทำงานร่วมกันมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ ช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย โดยเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 การเคหะแห่งชาติได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและโครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนของการเคหะแห่งชาติมา มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี และได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2564 ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย (Post Finance) ในโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งจัดวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้เรื่องการสร้างวินัยทางการเงินแก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชน ทั้งยังอำนวยความสะดวกในการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการสำหรับผู้ประกอบการ (Pre Finance) ตลอดจนประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประเมินมูลค่าโครงการเป็นหลักประกันสินเชื่อ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์กำหนด เป็นต้น

สำหรับการลงนามฯ ในครั้งนี้ นับเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องในการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขยายช่องทางการลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญา และคู่สัญญาโครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งโครงการบ้านเคหะสุขประชา โครงการบ้านเคหะสุขเกษม โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวโครงข่ายคมนาคม (Transit Oriented  Development : TOD) และโครงการบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ (Wellness Center) เป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการสำหรับผู้ประกอบการ (Pre Finance) และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย (Post Finance) รวมถึงบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือการดำเนินงานกับภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

“การเคหะแห่งชาติต้องขอขอบคุณธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานกับการเคหะแห่งชาติมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทำให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing for All)” นายทวีพงษ์ กล่าวในที่สุด

ด้าน นางภานิณี มโนสันติ์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานสินเชื่อ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานกิจการนโยบายสินเชื่อและภาครัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ให้มีคุณภาพชีวิต มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยมากขึ้น ดังนั้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ซึ่งตลอดระยะเวลา 70 ปี ทำให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วกว่า 4.4 ล้านครอบครัว จึงพร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการสำหรับผู้ประกอบการ (Pre Finance) และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance) ในโครงการนี้ ดังนั้นเชื่อว่าการลงนามความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมเป็นของตนเอง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมได้ต่อไป

“ธอส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการจัดหาที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่เหมาะสมกับตนเองได้ ขณะเดียวกันยังจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้รับสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้สอดคล้องพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ของธนาคาร โดยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วกว่า 4.4 ล้านครอบครัว”  นางภานิณี กล่าว