In News
'รมว.พิมพ์ภัทรา'ลงเยี่ยมหน่วยงานก.อุตฯ ชูการขับเคลื่อน4มติ/แนะนำใช้เทคโนฯ
กรุงเทพฯ-เมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.) โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ชามาตย์ นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายวันชัย พนมชัย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุมชั้น อก.1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ได้เข้าเยี่ยมกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอก. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
โดย รองปลัดฯ ณัฏฐิญา เป็นผู้นำเสนอว่า สปอ. มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย ตามแนวคิด "อุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อน 4 มิติ ได้แก่ 1. ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ 2. ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุข 3. ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก ทั้งการลดโลกร้อน การลดใช้น้ำ และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้มากขึ้น และ 4. การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ด้วยการกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นยั่งยืน พร้อมดูแลในการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน และพร้อมผลักดันการทำงานตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นกระจายการเติบโตสู่ระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคทั้ง 4 ภาค การพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเป้าหมาย S-Curve ทั้ง 12 สาขา การส่งเสริม SME Startup การนำ Soft Power เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศแข็งแรงขึ้น การผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความสะดวกมากขึ้น การเข้าสู่ระบบ Digital Government และการให้บริการ One Stop Service โดยแบบการทำงานออกเป็นระยะเร่งด่วน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อให้เกิดการขัยเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างแข็งแรง มั่นคง และยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลและแข็งแรง ระหว่างบุคลากรภูมิภาคและส่วนกลาง ให้สามารถบริหารจัดการภารกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ขอชื่นชมและส่งมอบกำลังใจแก่ข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมมอบนโยบายการทำงาน ให้ทุกหน่วยงาน นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาในการปฏิบัติงานให้มากที่สุด เพื่อลดภาระกำลังคนรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงาน การหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ทั้งในด้านกฎหมายที่สนับสนุนภาคการผลิตและการรับรองมาตรฐาน การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค และการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสินค้าฮาลาล และด้านการให้บริการภาคประชาชน ขอให้ทุกภาคส่วนให้บริการประชาชนด้วยความเต็มที่ สร้างรอยยิ้มและภาพลักษณ์อันดีกับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ รวมทั้งการให้บริการด้วยความสะดวก รวดเร็ว หรือ One Stop Service พร้อมกันนี้จะเร่งนำเสนอการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม และเรื่องอื่นๆ เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้การดำเนินการงานของทุกหน่วยงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนา “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน”
เยี่ยมกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ก่อนหน้านี้นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้ตรวจเยี่ยมหน่วยงานในกลุ่มภารกิจด้านกำกับตรวจสอบกระบวนการผลิต ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกำกับตรวจสอบกระบวนการผลิต (หกต.) และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย
กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีนโยบายมุ่งกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในทุกมิติ ตามนโยบาย ดิน (ดูแลเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด) น้ำ (การดูแลบำบัดน้ำเสียของโรงงานให้เหมาะสมก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ คู คลอง) ลม (การดูแลควบคุมการปล่อยฝุ่นควันจากโรงงาน เพื่อลดการเกิด pm2.5) และ ไฟ (การปรับแก้กฎหมายความปลอดภัยในโรงงานให้สอดคล้องกับปัจจุบัน) พร้อมทั้งได้ดำเนินการโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อมอบให้กับสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถอยู่ร่วมกันกับสังคมและชุมชนได้อย่างมีความสุข รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่สถานประกอบการอีกด้วย
ด้าน กพร. มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดหาและจัดการวัตถุดิบ โดยการส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โลหกรรม อุตสาหกรรมพื้นฐาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้มีการใช้ประโยชน์แร่และโลหะอย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
เยี่ยมหน่วยงานในกลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ตรวจเยี่ยมหน่วยงานในกลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้ากลุ่มภารกิจกลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (หศอ.) และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย
สศอ. ดำเนินภารกิจในด้านการชี้นำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ S-Curve อุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ ข้อมูลและการวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ตลอดจนคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม
เยี่ยมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสมอ.
ตรวจเยี่ยมหน่วยงานในกลุ่มภารกิจด้านส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ (หสผ.) และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย
ดีพร้อม เป็นหน่วยงานพัฒนาอุตสาหกรรมและวิสาหกิจไทย ให้เติบโตในเศรษฐกิจและสังคมในโลกยุคใหม่อย่างมั่นคง โดยปีนี้มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยนโยบาย ดีพร้อมโต (4S) ได้แก่ โตได้ (Start) กลไกที่ช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจ โตไว (Speed) กลไกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการได้ใช้การสร้างมาตรฐาน เพิ่มผลิตภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โตไกล (Scale) กลไกที่เพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานการผลิตให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง และโตให้ยั่งยืน (Sustainable) กลไกที่มุ่งสนับสนุนปัจจัยเอื้อที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน จากนโยบายข้างต้นส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 13,500 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6,200 ล้านบาท พร้อมเตรียมสานต่อโครงการ/กิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการทำงานเพื่อยกระดับศักยภาพการทำงานในองค์กร อาทิ การเร่งดำเนินโครงการ/กิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการไทย ปฏิรูปการทำงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อกระจายการให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด สร้างข้าราชการยุคใหม่ส่งต่อความเชี่ยวชาญในการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น และยกระดับการให้บริการของ DIPROM Center และระบบดิจิทัล (Ecosystem)
ด้าน สมอ. เป็นองค์กรนำด้านการมาตรฐานของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มุ่งดำเนินงานด้านการมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและประเทศชาติ โดยทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การกำหนดมาตรฐานที่ตรงความต้องการและสอดคล้องกับแนวทางสากล การสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจสอบรับรองและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์และบริการ ทั้งมาตรฐานระดับประเทศ มาตรฐานระดับสากล การรับจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ การเป็นหน่วยตรวจให้กับสถาบันมาตรฐานต่างประเทศ การรับรองฉลากเขียว (Green Label) การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ การจดทะเบียนบุคลากร ผู้ทรงคุณวุฒิ หลักสูตรและองค์กรฝึกอบรมด้านการมาตรฐาน การบริการข้อสนเทศมาตรฐาน การปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก งานด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศและภูมิภาค และการส่งเสริมมาตรฐานและพัฒนาด้านการมาตรฐาน ตลอดจนการกำกับดูแลศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งเป็นการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ สนับสนุนให้มีการออกแบบ วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน
ด้าน สอน. มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอ้อย และ น้ำตาลทราย ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ และ วางแผนการการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึง วิเคราะห์ วิจัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย