In News

นายกฯย้ำเชื่อความสำเร็จสภาพภูมิอากาศ หากทุกส่วนร่วมมือกันพัฒนาในทุกมิติ



กรุงเทพฯ-นายกฯ ย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เชื่อมั่นว่าจะสำเร็จหากทุกส่วนร่วมมือกัน พร้อมกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

วันนี้ (6 ตุลาคม 2566) เวลา 09.50 น. ณ SX Grand Plenary Hall ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference : TCAC 2) โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้กลายมาเป็นปัญหาเร่งด่วนและทวีความรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและพยายามอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสำคัญนี้ ดังกล่าว อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม การประชุมฯ ในวันนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิด สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ และร่วมกันขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติ พร้อมเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกันได้

การเข้าร่วมการประชุม UNGA78 ที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในวาระสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยหารือร่วมกับผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมถึงได้เน้นย้ำอย่างหนักแน่นไปยังประชาคมโลกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในระหว่างการประชุมสุดยอด Climate Ambition Summits ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 38 ประเทศที่ได้รับเลือกให้นําเสนอแผนและพันธกรณี ไทยยืนยันกับโลกว่าไทยยังคงมุ่งมั่นจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 สอดคล้องกับเป้าหมายการพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ข้อตกลงปารีส นอกจากนี้ ไทยยังเพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution) จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยรัฐบาลได้นำเป้าหมายเหล่านี้ บูรณาการในนโยบายที่สำคัญของประเทศ ซึ่งรวมถึงในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

ภาคพลังงาน รัฐบาลมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง รวมถึงการเตรียมการยกเลิกผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านพลังงานได้ร้อยละ 15 พร้อมวางแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ผ่านโครงการ Utility Green Tariff สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อปและการวัดแสงสุทธิ (net metering) รวมถึงสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ภาคการเกษตร เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร รัฐบาลนำร่องปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบปัจจุบันไปสู่การทำนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต รวมถึงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาสังคมแบบองค์รวม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งเพิ่มคุณค่าให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรม ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรหมุนเวียนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

ภาคป่าไม้ รัฐบาลมุ่งมั่งปกป้องป่าไม้และเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ครอบคลุมร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 120 ล้านตันต่อปี 

ภาคการเงินสีเขียว (Green Finance) นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำระหว่างการเข้าร่วมการประชุม Financing for the Future Summit ว่ารัฐบาลส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียวอย่างแข็งขัน ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนทั่วโลก ปัจจุบันสามารถระดมทุนได้ถึง 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนำไปสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ได้มากมาย รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายใหม่ และโครงการปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงวางแผนออกพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน(Sustainability Linked Bonds)อีกชุดในปีหน้า และจะระดมทุนให้ได้ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Green Taxonomy) เพื่อเป็นเครื่องกำหนดมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน สามารถกำหนดนโยบาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และการลงทุน ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในทุกมิติ

นายกรัฐมนตรียังเห็นถึงโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคเอกชนในการก้าวไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งหลายองค์กรได้ผลักดันและส่งเสริมมาตรการที่ยั่งยืนในปัจจุบัน โดยรัฐบาลเตรียมการเพื่อก้าวไปพร้อมกับองค์กรเหล่านี้ อาทิ การเตรียมการผลิตภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ สำหรับการบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ในระยะแรก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม ก่อนการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2026 

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับ “โอกาส” ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมด้านการผลิตและการบริโภค โดยยึดหลักความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งต้องได้รับความร่วมมืออย่างแข็งขันและสร้างสรรค์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

นอกจากนี้ รัฐบาลตระหนักถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง จึงจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนายกรัฐมนตรีผลักดันให้ผ่านพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ ซึ่งส่วนนี้จะวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

ทั้งนี้ ในการประชุม COP28 ที่กำลังจะมาถึง นายกรัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นที่จะให้มีการสนับสนุนในหลายมิติ เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยี การสนับสนุนทางการเงิน และการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อให้มั่นใจว่าจะบรรลุตามเป้าหมายร่วมกัน 

สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีขอขอบคุณสำหรับบทบาทและการสนับสนุนการรักษาโลกใบนี้ เพื่อคนรุ่นใหม่ในอนาคตของเรา อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้แน่ใจว่าความสำเร็จในวันนี้จะยั่งยืน พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการจัดกิจกรรมดี ๆ และการอภิปรายที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการอภิปรายในวันนี้

อนึ่ง การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในการดำเนินงานของประเทศตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน