EDU Research & ESG
วว.รุกผลักดันวิทย์-เทคโนโลยี-นวัตกรรม เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทยโชว์ผลงานปี66
ปทุมธานี-จากภาพรวมของตลาดเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัว ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับบริบทสังคมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสถานการณ์ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ต้องพลิกฟื้นธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รัฐวิสาหกิจใน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)มุ่งผลักดันนำผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ”
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 ว่า วว. สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem)และโครงสรางพื้นฐานเพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ในรูปแบบการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ “วว. JUMP” ที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการให้บริการแบบ One Stop Service ออนไลน์ 24 ชั่วโมงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างทันท่วงที เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
วว. ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนา อย่างเป็นรูปธรรมหลากหลายสาขา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เวชสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่พัฒนาจากพืชท้องถิ่นของไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความดันจากสารเพปไทด์ที่สกัดจากรำข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดดอกดาหลา ผลิตภัณฑ์ซีรั่มจากสารสกัดถั่วมะแฮะ ซึ่ง วว. เป็นตัวแทนประเทศไทยส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าร่วมประกวดในระดับเวทีระดับนานาชาติ สามารถคว้ารางวัลได้สำเร็จทั้งจากภูมิภาคเอเชีย ทวีปยุโรปและอเมริกา
นอกจากนี้ยังได้ขยายผลความสำเร็จการดำเนินโครงการ “ตาลเดี่ยวโมเดล”ณ จังหวัดสระบุรี ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จัดสร้าง “ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย” ณ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) แก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีสร้างมูลค่าเพิ่มต่อการจัดการขยะ ยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบรอบสองตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ด้านการบริการอุตสาหกรรมวว. ดำเนินงานขยายขอบข่ายการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสอบเทียบ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม New S-curve ของรัฐบาล อาทิ การทดสอบวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและซ่อมอากาศยาน การทดสอบชีวกลศาสตร์การแพทย์ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบการยึดกระดูกสะโพกด้วยการเสริมซีเมนต์กระดูกไฮดรอกซีอาพาไทด์การทดสอบความล้าของพื้นผิวข้อเข่าเทียมของกระดูกหน้าแข้ง (Tibial Tray) ตามมาตรฐาน ASTM F1800 การทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐาน OECD 301 (A-F) สำหรับเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดย วว. ให้บริการผู้ประกอบการได้ 2,447 ราย ให้บริการ MSTQ จำนวน 192,885 รายการ มีรายได้จากการให้บริการจำนวน 130 ล้านบาท รับรองคุณภาพตามระบบมาตรฐานสากลจำนวน 530 ราย ฝึกอบรมทางวิชาการบุคลากรภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐจำนวน 1,564 รายการ 63 หลักสูตร ให้บริการคำปรึกษาด้านวิศวกรรม ด้านวิชาการและการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ให้กับภาครัฐและเอกชน จำนวน 20 ราย
นอกจากการดำเนินงานวิจัย พัฒนา บริการอุตสาหกรรมแล้ว วว. ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ โดยดำเนินโครงการงานบริการวิจัยและที่ปรึกษาจำนวน 117 โครงการ ยื่นจดสิทธิบัตร จำนวน 5 เรื่องและยื่นจดอนุสิทธิบัตร 58 เรื่อง ผลงานได้รับการตีพิมพ์ภายในประเทศ 19 เรื่อง และตีพิมพ์ระดับนานาชาติจำนวน 91 เรื่อง
วว.มุ่งเน้นนำผลงานไปใช้ประโยชน์เชิงสังคมผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยลงพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่ประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ การพัฒนาผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับและเครือข่ายนานาชาติตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน ณ จังหวัดเลย นนทบุรี เชียงใหม่ ลำปาง และพื้นที่อื่นๆ การประเมินและการพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง กาฬสินธุ์ สกลนคร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส การส่งเสริมให้ความรู้การขยายเชื้อชีวภัณฑ์ในถังหมักและการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงราย พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาศักยภาพผลผลิตการเกษตรในพื้นที่นำร่องจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครราชสีมา และนราธิวาสเป็นต้น
ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศวว. ดำเนินงานเชิงรุกแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมุ่งสู่เป้าหมายสากลของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SCGs เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็น การพัฒนาทักษะบุคลากรให้ก้าวไปสู่เวทีวิจัยระดับสากล ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการความร่วมมือด้านนโยบายและเทคโนโลยีควบคุมมลพิษทางอากาศ (Enhanced Capabilities to Adopt Innovative Technologies for City Air Pollution control in Selected Countries of the Asia-Pacific) ความร่วมมือเพื่อการจัดการขยะพลาสติก โครงการเทคโนโลยีระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังโครงสร้างระบบขนส่งทางราง (Technical Cooperation for Research and Implementation of Railway Inspection and Monitoring Technology) เป็นต้น
จากการดำเนินงานของ วว. ในปี 2566 ดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นมูลค่า 17,650.4561 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.6975 เท่า เมื่อเทียบกับเงินงบประมาณแผ่นดินที่ วว. ได้รับการจัดสรรในฐานะหน่วยงานวิจัยของประเทศที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชนผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการดำเนินองค์กร ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับการวิจัยและให้บริการกับภาคธุรกิจและพี่ประชาชนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ