Travel Sport & Soft Power

ประเพณีบุญคูณลานไหว้หลวงพ่อองค์ดำ กาฬสินธุ์ขนโอทอป18อำเภอออกร้าน



กาฬสินธุ์-อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับ อบจ.กาฬสินธุ์  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกิ่งกาชาดอำเภอกุฉินารายณ์ จัดงาน"ประเพณีบุญคูณลาน นมัสการหลวงพ่อองค์ดำ อำเภอกุฉินารายณ์" ประจำปี 2567 สืบสาน และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี อันดีงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์  มีการจัดงานประเพณีบุญคูณลาน  นมัสการหลวงพ่อองค์ดำ ประจำปี 2567 ซึ่งอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ อบจ.กาฬสินธุ์  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกิ่งกาชาดอำเภอกุฉินารายณ์ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23 – 25 มกราคม 2567 เพื่อสืบสานรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงแสดงถึงอัตลักษณ์วิถีชีวิตของชาวภูไทให้ได้รู้จักมากขึ้น

โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน และมีนายธวัชชัย  รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายวีรดนย์ ศิริ นายอำเภอกุฉินารายณ์ ในฐานะประธานผู้จัดงาน  นายภูมินทร์ ภูมิเขตร ส.จ.อำเภอกุฉินารายณ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนร่วมงานจำนวนมาก  นอกจากนี้นายกอบจ.กาฬสินธุ์ยังได้มอบเงินสนับสนุนการจัดงานจำนวน 500,000 บาทอีกด้วย

ทั้งนี้ในช่วงก่อนพิธีเปิดงานบุญคูณลาน มีการจัดขบวนแห่ ขบวนฟ้อนรำ และโชว์ของดีประจำท้องถิ่น จากบริเวณอ่างเก็บน้ำเลิงซิวไปตามถนนสายต่างๆจนถึงศูนย์ราชการ อ.กุฉินารายณ์  ซึ่งการแห่มีริ้วขบวนที่สวยงามตระการตา มีนางรำแต่งกายด้วยชุดภูไท และชุดภูลาวกว่า 1,000 คนร่วมฟ้อนรำ และมีการจัดพิธีรำบูชาหลวงพ่อองค์ดำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองกาฬสินธุ์ 

สำหรับกิจกรรมในงานมีการออกร้านผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP จาก 18 อำเภอ ของจังหวัดกาฬสินธุ์, การประกวดหนุ่มกุ้มข้าว สาวคูณลาน, การประกวดผลผลิตทางการเกษตร, การประกวดอาหารพื้นบ้าน, การเดินแบบผ้าไทยพื้นบ้าน "ผ้าไทย ใส่ให้สนุก",  การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งประกอบหางเครื่อง และกิจกรรมรำวงย้อนยุค การจัดบู๊ทจากแปลง  โคก หนองนา มีการนำสินค้าพื้นเมือง เครื่องจักสาน ผลผลิตทางการเกษตรมาจำหน่าย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน และยังเป็นการการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย