EDU Research & ESG
'นักวิทย์ไทย'นำเสนอผลงานความสำเร็จ นวัตกรรมByeByeHIV ในเวทีนานาชาติ
กรุงเทพฯ-The 49th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT49) งานประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นงานประชุมทางวิชาการที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีคุณภาพ มีนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกผู้มีความรู้ความสามารถสูงระดับรางวัลโนเบลมาร่วมประชุม โดยความยิ่งใหญ่ของงานในปีนี้ได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2023 Dr. Mangi Gi Bawendi (ศาสตราจารย์ ดร.โมนกี บาเวนดี) จากสถาบันเทคโนโลยีเมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มาร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Quantum Dots: Discovery and Synthesis”และการบรรยายพิเศษจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณวัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2566 ในหัวข้อ Discovery and development of lead compounds from Thai fungal resources in drug discovery
งานประชุมนี้ เป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและวิทยากรรับเชิญจากทั้งในและต่างประเทศ มาบรรยาย เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ รวมผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้จำนวนเกือบ 300 ผลงาน วิทยากรรับเชิญอาทิ Dr.Dindo Campilan, International Union for Conservation of Nation (IUCN), Dr. John J. Mekalanos Department of Microbiology, Harvard Medical School, USA, Dr. Anthony Laing, School, of Physics, The Bristol Centre for Nanoscience and Quantum Information, UK, Dr. G. Arthanareeswaran, National Institute of Technology Tiruchirappalli, India และ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ร่วมบรรยายในเวทีระดับเดียวกับนักวิทยาสาสตร์รางวัลโนเบล คือ ศ.ดร. พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) และหัวหน้าคณะนักวิจัย APCO นำเสนอเรื่อง “ByeBye HIV ด้วยนวัตกรรมแห่งชาติไทย” เป็นความสำเร็จของวงการวิทยาศาสตร์ประเทศไทยในการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อHIV จากความทุ่มเทค้นคว้าวิจัยต่อเนื่อง มาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ของสารสกัดจากพืชไทย 5 ชนิด คือ มังคุด, งาดำ, ถั่วเหลือง, ฝรั่ง และใบบัวบก เข้าไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวเซลล์ทีพิฆาต (Killer T Cell) ให้เลือกกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อ HIV ด้วยการมุ่งเป้า โดยไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ปกติของร่างกายเลย ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
นับว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นของนักวิทยาศาสตร์ไทยในการก้าวสู่การรับรู้ในระดับนานาชาติ ในงานประชุม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 49 (STT49) ที่เป็นเวทีของการบูรณาการความรู้สู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ที่ส่งผลถึงความเจริญด้านเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศต่อไป