EDU Research & ESG
อว.มอบเอ็นไอเอจับมือกับผู้นำกลุ่มฟู้ดส์ สร้างแรงหนุนในโครงการสเปซ-เอฟ
กรุงเทพฯ 15 กุมภาพันธ์ 2567-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าสร้างมูลค่านวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้นผ่านการดำเนินงานในโครงการ SPACE – F พื้นที่บ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกโครงการแรกของไทยที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของ NIA และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารให้สามารถเติบโตด้วยการนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนทั้งระดับประเทศและระดับสากล ทั้งนี้ ตั้งแต่ริเริ่มโครงการ SPACE – F ในปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันมีสตาร์ทอัพทั้งในประเทศและทั่วโลกเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 60 ราย ได้ระดมเงินทุนไปแล้วมากกว่า 63 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์กระทรวง อว. คือ การมุ่งยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศด้วยการส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในการยกระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหน่วยงานหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งสร้างโอกาสต่อยอดให้สามารถก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างก้าวกระโดด
“กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับ “โครงการ SPACE – F” ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกโครงการแรกของไทยที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของ NIA ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารให้สามารถเติบโตด้วยการนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนทั้งระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบนิเวศเอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ยังส่งผลต่อการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” และก้าวสู่อันดับที่ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index หรือ GII) ภายในปี 2573 ส่งผลกระทบที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย”
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่าจากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Global Startup Ecosystem Index) ปีที่ผ่านมาโดย StartupBlink พบว่าระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่สามารถก้าวกระโดดขึ้นมา 25 อันดับสู่อันดับที่ 74 ของโลก อันดับที่ 3 ของอาเซียน ทำให้กลายเป็นหมุดหมายที่น่าสนใจของสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากทั่วโลก และหากมาผนวกกับความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ได้รับขนานนามว่าเป็น “ครัวโลก” จะยิ่งเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการก้าวสู่เวทีระดับโลก
“ทั้งนี้ NIA ได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ริเริ่มโครงการ SPACE - F ขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีอาหารให้เติบโตและพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหารที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรเข้าร่วมเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ล็อตเต ไฟน์ เคมิคอล จำกัด บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด และล่าสุด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ โดยในโครงการมุ่งส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ในอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต การพัฒนาส่วนผสมและอาหารใหม่ การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร โดยที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพทั้งในประเทศและทั่วโลกเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 60 ราย ได้ระดมเงินทุนไปแล้วมากกว่า 63 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพที่สนใจเข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ - 31 มีนาคมนี้ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.space-f.co” ดร.กริชผกา กล่าว