Authority & Harm

ศาลปกครองสูงสุดชี้ท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ 'ไม่ชอบด้วยกฎหมาย'เหตุเลี่ยงทำEIA



ฉะเชิงเทรา-บทเรียนกลุ่มทุน พลิ้วหาช่องโหว่กฎหมายแบ่งซอยโครงการขนาดใหญ่เป็นโครงการขนาดย่อม แต่อยู่ในแปลงพื้นที่เดียวกันเลี่ยงทำ EIA และ EHIA เดินหน้าทุ่มทุนนับพันล้านบาทสร้างท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์และโกดังรองรับการขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ริมลำน้ำบางปะกง ศาลปกครองสูงสุดตัดสินชี้ขาดวันนี้ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หลังมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านยื่นฟ้องต่อสู้มายาวนานกว่า 11 ปีเต็ม

วันที่ 2 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (10.30 น.) ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลปกครองระยอง ได้มีกำหนดการอ่านคำพิพากษา พิจารณาคดีกรณีกลุ่มบุคคลผู้ใช้นามว่า “สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตสร้างท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ ในพื้นที่ ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีการทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามที่ภาคเอกชนรายดังกล่าว ได้ยื่นคำร้องขอใบอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือจำนวน 6 ท่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2555 เพื่อขนถ่ายสินค้าเกษตรกรรม จำพวกข้าวและแป้งมันสำปะหลัง

และต่อมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2555 นายกริชเพชร ชัยช่วย ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 ได้ลงนามออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้ง 6 ท่า ตามที่ภาคเอกชนรายนี้ร้องขอโดยที่ไม่ได้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน (EHIA) เนื่องจากได้มีการแยกย่อยการยื่นขอใบอนุญาตให้ท่าเรือแต่ละท่านั้น มีพื้นที่น้อยกว่า 1,000 ตรม. ลงมาเพื่อหลีกเลี่ยงการทำ EIA หากมีพื้นที่เกินกว่า 1 พันตารางเมตรขึ้นไปนั้นที่ต้องทำ EIA ตามระเบียบ

โดยมีการแบ่งซอยพื้นที่เป็น 831 ตรม.จำนวน 2 ท่า และ 995 ตรม.จำนวน 4 ท่า แต่เมื่อรวมพื้นที่ท่าเทียบเรือทั้ง 6 ท่าแล้วมีพื้นที่มากถึง 5,642 ตรม. และยังมีการหลีกเลี่ยงการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ด้วยการแบ่งหน้าท่าเรือให้มีความยาวเพียง 66.6 เมตรจำนวน 2 ท่าและ 81 เมตรจำนวน 4 ท่า โดยระเบียบได้กำหนดไว้ให้ท่าเรือที่มีความยาวหน้าท่าเกินกว่า 300 เมตรขึ้นไปต้องทำ EHIA ในขณะที่ความยาวรวมทั้ง 6 ท่านั้นมากถึง 457.2 เมตร 

จึงทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวลุ่มน้ำบางปะกง ในนามสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยองมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2556 และมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2559 โดยระบุว่า “การออกใบอนุญาตท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์และโกดังสินค้าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขอใบอนุญาตท่าเทียบเรือและโกดังสินค้าดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตที่จะต้องทำรายงาน EIA”

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2560 กลุ่มสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนได้ยื่นฟ้อง กรมเจ้าท่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค 6 สาขาฉะเชิงเทรา นายก อบต.สนามจันทร์ อุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 5) ฐานละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายไม่ควบคุมกำกับดูแลกิจการท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ริมแม่น้ำบางปะกง ปล่อยให้บริษัทเอกชนประกอบกิจการโดยไม่ได้จัดทำรายงาน EIA และขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 ศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษา ยกฟ้องในทุกประเด็นอีก

สุดท้ายในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีการพิจารณาคดี และถือเป็นที่สิ้นสุดแห่งคดีแล้ว โดยได้เห็นว่า “ใบอนุญาตท่าเทียบเรือแห่งดังกล่าวนี้ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในข่ายที่ต้องทำ EIA ก่อน เนื่องจากเป็นท่าเทียบเรือที่รองรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไป” 

ทั้งนี้เดิมบริษัทแห่งดังกล่าว ได้ยื่นขอก่อสร้างท่าเทียบเรือรวมทั้งหมด 13 ท่า แต่กรมเจ้าท่ามองว่าจะมีการก่อสร้างมากเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ จึงได้อนุญาตให้ทำการก่อสร้างได้เพียงจำนวน 6 ท่า โดยที่ตั้งของท่าเรือแห่งนี้อยู่ห่างจากปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงประมาณ 36 กม. และห่างจากจุดขนถ่ายสินค้าเกาะสีชัง จ.ชลบุรี 56 กม. ขณะที่ภายในยังมีโครงการก่อสร้างโกดังสินค้าขนาดใหญ่อีกรวม 35 โกดัง ที่มีการลงทุนไปแล้วนับพันล้านบาท

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา