In News

นายกฯทัวร์อีสานใต้ที่'อบุลฯ-ศรีสะเกษ' 'เป้าผู้บำบัด100%ไม่เสพอีก/แก้อุทกภัย



ศรีสะเกษ-นายกฯ รับฟังปัญหาของครอบครัวผู้ติดยาเสพติด-เป็นประธานประชุมติดตามประเด็นยาเสพติดในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ขอบคุณทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเต็มที่ ตั้งเป้าทำให้ผู้ที่เคยเสพยาไม่กลับไปเสพอีกเป็น 100% ก่อนหน้านี้นายกฯ ติดตามสถานการณ์/สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และนายกฯ ชื่นชมโครงการก่อสร้าง “แยกต่างระดับคำน้ำแซบ” จ.อุบลราชธานี เป็นโครงการที่ดี ย้ำให้พิจารณาการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

วันนี้ (29 มิถุนายน 2567) เวลา 11.30 น. ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับฟังปัญหาของครอบครัวผู้ติดยาเสพติดและเป็นประธานการประชุมติดตามประเด็นยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปการนำเสนอภาพรวมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และรับฟังการนำเสนอเกี่ยวกับการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จากนายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

การจับกุม สามารถจับกุมยาเสพติดศรีสะเกษเป็นอันดับที่ 2 ของภาค 3 โดยการจับกุมลดลง 478 คน (ปี 2566 จำนวน 3,905 คน ปี 2567 จำนวน 3,427 คน) ของกลาง ยาบ้าจับเพิ่มขึ้น 2 ล้านเม็ด (ปี 2566 จำนวน 1.2 ล้านเม็ด ปี 2567 จำนวน 3.2 ล้านเม็ด) มูลค่าทรัพย์สินคดียาเสพติด เพิ่มขึ้น 26.5 ล้านบาท (ปี 2566 จำนวน 20.5 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 47 ล้านบาท) โดยในด้านของการป้องกันยาเสพติด ได้มีการดำเนินการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กและใช้เครือข่ายชุมชนค้นหาผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษา (เขินโมเดล ศูนย์ EF  CBTx ชุมชนล้อมรักษ์) ด้านการบำบัดรักษา ศรีสะเกษดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงได้ช่วยลดความรุนแรงในชุมชนอำเภอที่ทำได้ส่วนใหญ่มีมินิธัญรักษ์และ CBTx นำร่อง บำบัดผู้ป่วยยาเสพติดได้ 89% (บำบัด 1,840 ราย จากเป้าหมาย 2,065 ราย)  ซึ่ง 92% (1,220 ราย) ของผู้ป่วยไม่กลับไปเสพซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นอันดับ 2 แต่เตียงไม่เพียงพอ (อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยใน 2 โรงพยาบาลมินิธัญรักษ์เกือบ 200% ของจำนวนเตียง ดังนั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จังหวัดศรีสะเกษจึงขอสนับสนุนงบฯ เพื่อเพิ่มสถานพยาบาลในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด (กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 244 จำนวน 50 เตียง ได้ของบฯ 10 ล้านบาท ไปยังสำนักงาน ป.ป.ส.) และเร่งรัดการจัดสรรงบฯ โครงการตึกบำบัดผู้ติดยาเสพติด (โรงพยาบาลศรีรัตนะ ตึกผู้ป่วย 5 ชั้น งบฯ 108 ล้านบาท)

นายกฯ กล่าวถึงตัวเลขยาเสพติดและผู้ติดยาเสพติด ที่ได้รับรายงานดังกล่าว เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่ก็ขอขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ช่วยกันดูแลเรื่องนี้มา ซึ่งนอกจากเรื่องงบประมาณแล้ว เรื่องของความใส่ใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง  ซึ่งเรื่องที่เราสามารถทำให้ผู้ที่เคยเสพยาเสพติด ไม่กลับไปเสพอีก 92% เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อยากให้ตัวเลขดังกล่าวกลายเป็น 100%  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยเมื่อวานนี้นายกฯ ได้เดินทางไปที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งก็จะทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดสีขาวทั้งหมด เมื่อเป็นจังหวัดสีขาวแล้วก็จะไม่มีผู้เสพยาเสพติด ซึ่งหากจังหวัดร้อยเอ็ดสำเร็จ ก็จะนำโมเดลตรงนี้มาใช้กับทุก ๆ พื้นที่

นายกฯ กล่าวถึงเรื่องการเกษตร เรื่องน้ำ และการท่องเที่ยว ว่าก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ใหญ่และมีศักยภาพสูง แต่เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ดีไม่ได้เลย ถ้าหากยังมีพี่น้องที่ติดยาเสพติดกันอยู่มาก ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับชาติ ที่รัฐบาลได้มีการยกระดับเรื่องนี้ขึ้นมาให้มีการแก้ไขกันอย่างตรงไปตรงมาและถูกต้องที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องของการที่จะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องคมนาคม และการเกษตรต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่เรื่องที่มาก่อนก็ต้องเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมกันนี้ขอขอบคุณ สส.ในพื้นที่ ที่ช่วยดูแลลงพื้นที่อย่างหนัก และประสานงานกับทุก ๆ ฝ่ายเพื่อนำความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนมาแก้ไขกัน ซึ่งวันนี้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็มากันครบ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ ซึ่งก็ขอให้ช่วยกันดูแลเรื่องนี้และแก้ไขให้ดี

นอกจากนี้ ภายหลังการประชุมฯ นายกฯ ได้แกะทุเรียนภูเขาไฟซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลผลิตทางการเกษตร GI ที่เป็นอัตลักษณ์โดดเด่นประจำจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดศรีสะเกษด้วย

นายกฯ เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอุบลฯ

เวลา 10.00 น. ณ ศาลาประชาคมบ้านผึ้งตก หมู่ที่ 4 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์การเตรียมพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะร่วมด้วย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงบริเวณพื้นที่จัดงานมีประชาชนมารอให้การต้อนรับและมอบผ้าขาวม้าให้กับนายกฯ จากนั้น นายกฯ รับฟังบรรยายสรุปแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จากอธิบดีกรมชลประทาน ดังนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำกระเพาะหมูทองคำปากกุดหวาย ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โครงการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยสามารถเป็นแหล่งน้ำเก็บกักน้ำในฤดูหลากและใช้ประโยชน์จากน้ำที่เก็บกักไว้ในฤดูแล้งพร้อมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย หากโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำเก็บกักเพื่อการเกษตร ประมาณ 4.41 ลบ.ม ครอบคลุมพื้นที่ 5 หมู่บ้านในตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งหมด 7,450 ไร่ 3,370 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดระดับน้ำท่วมได้ 0.60 - 1.00 ม. และช่วยลดระยะเวลาการระบายน้ำจากเดิมเร็วขึ้น 20-30 วัน

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ พร้อมลงพื้นที่สำรวจบริเวณลำน้ำห้วยผับ และลำน้ำใกล้เคียง จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเป็นแหล่งน้ำเก็บกักน้ำในฤดูหลาก และใช้ประโยชน์จากน้ำที่เก็บกักไว้ในฤดูแล้ง พร้อมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ปริมาณความจุเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.74 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้ประโยชน์ 6,250 ไร่ 2,150 ครัวเรือน ครอบคลุม 6 ตำบลในเขตพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยผับ ประมาณ 20-30 เซนติเมตร และช่วยลดระยะน้ำท่วมขังในพื้นที่จากเดิม 60 วัน เหลือ 30 วัน (ข้อมูลน้ำท่วม ปี พ.ศ. 2565) รวมทั้ง โครงการตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล และอำเภอโพธิ์ไทร) 

ภายหลังการบรรยายสรุปฯ นายกฯ ได้มอบพันธ์ุปลา ตามโครงการช่วยเหลือจากกรมประมงเพื่อสร้างแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกกรมประมง ประจำปีงบประมาณ 2567  และมอบพันธุ์โค โครงการธนาคารโค - กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ จำนวน 60 ตัวมูลค่า 1,680,000 บาท พร้อมมอบพันธุ์เมล็ดหญ้าให้กับผู้แทนเกษตรกร

จากนั้น นายกฯ กล่าวพบปะพี่น้องประชาชนชาววารินชำราบที่มารอต้อนรับประมาณ 600 คน ว่าวันนี้มาพร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกือบทุกพรรค ที่มากันในวันนี้เพราะเห็นถึงความสำคัญของปัญหาของพี่น้องชาวอุบลราชธานีครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาเกษตรกร ซึ่งวันนี้มีการมอบโคและมอบพันธุ์ปลา ไม่ว่าเป็นปัญหาเรื่องของน้ำซึ่งวันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับชาวอุบลราชธานี ปัญหาเรื่องถนน เมื่อเช้านี้ก็ไปดูโครงการสี่แยกคำน้ำแซบ ที่จะช่วยลดอุบัติเหตุส่งผลให้การจราจรลื่นไหลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเมื่อวานนี้ไปดูวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับเรื่องการหล่อเทียนแห่เทียนพรรษา ถ้าเป็นไปได้ก็จะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2567 และได้เห็นชาวต่างชาติมาด้วย ก็จะช่วยสนับสนุนให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยว  โดยเมื่อวานนี้ไปที่จังหวัดร้อยเอ็ดก็เพื่อจะทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดสีขาวให้ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ และจะนำนโยบายตลอดจนหลักการการทำงานมาทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดสีขาวในโอกาสต่อไป 

นายกฯ กล่าวต่อไปว่าส่วนเรื่องด่วนเรื่องสำคัญที่มาที่นี่ ซึ่งระหว่างนี้ก็มีการพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตลอดเวลาเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอีสานตอนล่างทั้งหมด เชื่อว่ารัฐบาลมีนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวครบวงจร ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีและอีสานตอนล่าง จะไม่ท่วมไม่แล้งตลอดไป โดยขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน ทำแผนจัดการรองรับแนวทางป้องกันบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อนน้อยที่สุด  เช่น เร่งขุดลอกคูคลอง การทำแก้มลิง เป็นต้น

"การลงพื้นที่ในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมรับฟังปัญหาต่าง ๆ จากในพื้นที่ มุ่งหาทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับอันจะส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของจังหวัดอุบลราชธานีให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยบรรเทาไม่ให้จังหวัดอุบลราชธานีประสบกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ

นายกฯ ชื่นชมโครงการก่อสร้าง “แยกต่างระดับคำน้ำแซบ”อุบลฯ

เริ่มภารกิจแรกเวลา 09.35 น. ณ แยกคำน้ำแซบ ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามโครงการก่อสร้าง “แยกต่างระดับคำน้ำแซบ” โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมด้วย

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพบปะทักทายและร่วมถ่ายภาพกับประชาชนที่รอให้การต้อนรับ จากนั้นรับฟังรายงานโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 231 ตัดทางหลวงหมายเลข 226 (แยกคำน้ำแซบ) จากนายชยุต โลหะกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 9 โดยทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 231 กับทางหลวงหมายเลข 226 (แยกคำน้ำแซบ) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้น การปรับปรุงเป็นทางแยกต่างระดับจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว กรมทางหลวงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 231 กับทางหลวงหมายเลข 226 (แยกคำน้ำแซบ) เสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการ ซึ่งได้รับพิจารณาจัดสรรงบประมาณในปี 2568 - 2570 รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,050,000,000 บาท เมื่อการก่อสร้างทางแยกต่างระดับของโครงการแล้วเสร็จจะช่วยให้การสัญจรของประชาชนในพื้นที่ และผู้ใช้เส้นทางมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง และการขนส่งสินค้า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนแผนงานโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน

นายกฯ กล่าวชื่นชมการดำเนินโครงการก่อสร้างแยกต่างระดับคำน้ำแซบเป็นโครงการที่ดี ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางลดความหนาแน่นบนท้องถนน ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำให้พิจารณาการใช้งบประมาณในการออกแบบและก่อสร้างให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี

ต่อจากนั้น นายกฯ เดินทางไปยังศาลาประชาคมบ้านผึ้งตก หมู่ที่ 4 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ สั่งการเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย และพบปะประชาชนต่อไป