In News
เผยบทความจากFinancial Timeมอง โครงการ Digital Walletของรัฐบาลไทย
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาล เผยบทความจาก Financial Time มองโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาล เป็นก้าวสำคัญสู่ระบบการเงินโลกอนาคตชื่นชมแนวคิดรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมวางรากฐานระบบดิจิทัล สามารถเป็นแนวทางให้ประเทศอื่นได้
วันที่ 8 สิงหาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยบทความจากหนังสือพิมพ์ Financial Time เรื่อง “Thailand may tell us a great deal about the future of money” ซึ่งกล่าวถึงโครงการ Digital Wallet ของไทย วิเคราะห์ถึงรายละเอียดและความเป็นไปได้ที่ไทยกำลังสร้างสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งอาจเป็นแบบอย่างสำคัญสำหรับอนาคตของระบบการเงินทั่วโลก และเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตการเงินโลก สะท้อนเห็นว่านักวิชาการต่างชาติเห็นถึงศักยภาพของการวางรากฐานทางการเงินดิจิทัล ผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า บทความดังกล่าวเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ Financial Time หัวข้อ “Thailand may tell us a great deal about the future of money” (https://www.ft.com/content/9194ca11-7788-4a1d-a6cc-cffea18d0c9d?shareType=nongift) ซึ่งเขียนโดย Eswar Prasad ศาสตราจารย์อาวุโสด้านนโยบายการค้าจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) เป็นนักวิชาการอาวุโสที่สถาบัน Brookings และเป็นผู้เขียนหนังสือ The Future of Money โดยเนื้อหาบทความกล่าวถึง โครงการ Digital Wallet ของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งพบว่าโครงการฯ ของไทยเป็นการทดลองที่น่าสนใจ มีศักยภาพสูง ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้แก่ประเทศอื่น ๆ ที่จะพัฒนาระบบการเงินในอนาคต
บทความของ Financial Time กล่าวถึงจุดเด่นหลายประการ เช่น 1) การกำหนดเป้าหมายโครงการฯ ที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นไปที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากกว่าการเก็บออมเงิน จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ลดการทุจริต ซึ่งโครงการฯ ใช้ระบบการโอนเงินโดยตรงสู่ผู้รับ จึงช่วยลดโอกาสการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐ 3) กระตุ้นการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการกำหนดระยะเวลาการใช้เงินภายใน 6 เดือน และข้อจำกัดในการใช้จ่าย ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเงินจะถูกใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และ 4) สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น ผ่านการจำกัดการใช้จ่ายเฉพาะในร้านค้าขนาดเล็กที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ท้องถิ่นของผู้รับเท่านั้น ซึ่งจะช่วยกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่ชุมชน
ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงความเสี่ยง เช่น การใช้เป็นเครื่องมือควบคุมสังคม และอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในการพัฒนาระบบดังกล่าว เเต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ชี้ว่า โครงการ Digital Wallet อาจเป็นก้าวแรกสู่การใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) อาจนำไปสู่การปฏิวัติระบบการเงินในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งยกระดับระบบการเงินของประเทศ และวางรากฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการสนับสนุน CBDC ให้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ในรูปแบบดิจิทัล พร้อมผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ในภูมิภาคได้
“นโยบาย Digital Wallet ได้รับความสนใจจากนักวิชาการต่างชาติ สะท้อนว่าประเทศไทยอยู่ในจุดสนใจของเวทีระหว่างประเทศ เป็นโอกาสที่จะโชว์ศักยภาพของประเทศในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการเงินในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลตั้งแต่ต้นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางรากฐานสำคัญสำหรับระบบการเงินดิจิทัลของประเทศในอนาคต พร้อมยืนยันว่า จะดำเนินทุกนโยบายเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชน” นายชัย กล่าว