In News

'ดีอี'เอาจริงหาต้นตอคนปล่อยข่าวปลอม 'แอปฯทางรัฐ' เสี่ยงข้อมูลบัตรปชช.รั่วไหล



กรุงเทพฯ-ดีอี เตือน อย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม “ลงทะเบียนแอปฯ ทางรัฐ เสี่ยงข้อมูลบัตร ปชช. รั่วไหลไปสู่แอปฯ SupperApp” รุกหาต้นตอ พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุด

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวง ดีอี โดย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ เครือข่าย  ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โดยตรวจสอบพบ การเผยแพร่ข่าวปลอม เรื่อง “ลงทะเบียนแอปฯ ทางรัฐ เสี่ยงข้อมูลในบัตรประชาชนรั่วไหลไปสู่แอปฯ ใหม่ ที่ชื่อ SupperApp”

ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้ประสานการทำงานร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA สำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่า เป็น “ข้อมูลเท็จ” โดย DGA ได้ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง ว่า แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ที่ สพร. หรือ DGA ได้พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่ ง่าย จบ ครบทุกช่วงวัย ในแอปพลิเคชันเดียว เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ลดการใช้กระดาษ ตอบรับสังคม Paper less รวมถึงทำให้การทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ และลดการเกิดปัญหาคอร์รัปชัน

ขณะที่ข้อมูลและบริการต่าง ๆ จะเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบข้อมูลและบริการนั้น โดยตรง ผ่านแพลตฟอร์มที่ติดตั้งอยู่บนระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) ที่ให้บริการ และบริหารจัดการ โดย DGA ซึ่งไม่มีการคัดลอกและสำเนาข้อมูล ไว้ที่ DGA แต่อย่างใด

สำหรับระบบคลาวด์ภาครัฐ มีระดับเสถียรภาพ (SLA) ไม่น้อยกว่า 99.5% และเป็นระบบที่มีมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS)

ในส่วนของแอปฯ ทางรัฐ และระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปฯ ทางรัฐ สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น

ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือ ไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับแอปฯ ทางรัฐ จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th หรือ โทร. 02-612-6060

ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นข้อมูลโดยตรงจากรัฐบาลที่เชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านศูนย์บริการข้อมูลโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

“กระทรวงดีอี ขอความร่วมมือประชาชน อย่าหลงเชื่อ อย่าแชร์ส่งต่อข้อมูล ซึ่งมีที่มาคลุมเครือ และไม่ชัดเจน ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยขอให้ติดตามข้อมูลและข่าวสารอย่างเป็นทางการของโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” จากหน่วยงานรัฐ อาทิ กระทรวง ดีอี กระทรวงการคลัง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (โฆษกรัฐบาล) กระทรวงพาณิชย์ และ DGA ฯลฯ โดยผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมีเจตนาที่จะบิดเบือน ต้องการสร้างความกังวลสับสน ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงทางไซเบอร์ร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง โดยกระทรวง ดีอี จะติดตามตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวปลอมดังกล่าว และจะดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ ผู้ไม่หวังดี อย่างถึงที่สุด ” นายประเสริฐ กล่าว