In Thailand

เกษตรกาฬสินธุ์จัดงานรณรงค์เชื่อมโยง เครือข่ายมันสำปะหลังสะอาด



กาฬสินธุ์-สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์จัดงานรณรงค์และเชื่อมโยงเครือข่ายมันสำปะหลังสะอาด เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการผลิตให้ได้คุณภาพ  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร

วันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ทำการกลุ่มแปลงใหญ่มันลำปะหลัง ตำบลหนองใหญ่ หมู่ที่ 12 ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์  นายธวัชชัย  รอดงาม  รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นประธานเปิดงานรณรงค์และเชื่อมโยงเครือข่ายมันสำปะหลังสะอาด โครงการภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชอุตสาหกรรม กิจกรรมหลักพัฒนาศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังด้วย BCG Model สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

โดยมีนายธีระพงศ์  ฤทธิโชติ  เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์  หัวหน้ากลุ่ม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรฯ และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่อำเภอหนองกุงศรี รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงานจำนวนมาก  โดยภายในงานได้จัดนิทรรศการ จำนวน 7 นิทรรศการ ได้แก่  นิทรรศการเรื่องโรคและแมลงศัตรูมันสำปะหลัง   นิทรรศการพันธุ์มันสำปะหลัง   นิทรรศการระบบน้ำและปุ๋ย  นิทรรศการโดรน  นิทรรศการเครื่องจักรกลการเกษตร   นิทรรศการแปรรูปมันสำปะหลัง  และ นิทรรศการสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลัง

นายธีระพงศ์  ฤทธิโชติ  เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์  กล่าวว่า  มันลำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักลำดับที่ 3 ของจังหวัด โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3.06 แสนไร่ รองลงมาจากข้าว และอ้อยโรงงาน และมีโรงงานรับซื้อผลผลิตภายในจังหวัด จำนวน 9 โรงงาน ปัญหาส่วนใหญ่ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง คือ  ประสิทธิภาพการผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตมีความผันผวน รวมถึงปัญหาจากโรคและแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคใบด่างมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ยังมีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับการลงทุน 

ดังนั้น จังหวัดกาฬสินธุ์จึงเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการเกษตร ให้มีความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังโดยส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต  พัฒนาคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการเพิ่มผลผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนประกอบและผลผลิตของมันสำปะหลัง ที่สามารถสร้างรายได้มุ่งหวังให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร ตลอดจนการเชื่อมโยงตลาดให้เกษตรกรเกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้สร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจของจังหวัด