EDU Research & ESG

วว.แนะเทคโนโลยีการฟื้นฟูดินหลังน้ำท่วม ช่วยลดใช้สารเคมีเพิ่มความอุดมสมบูรณ์



กรุงเทพฯ-จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในปี 2567 นี้ ได้สร้างความเสียหายต่อที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ภาคการเกษตร การพาณิชย์ ธุรกิจการค้า รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท  โดยเฉพาะในพื้นที่ทำการเกษตร นาข้าว พืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์นับหลายล้านไร่นั้น ในบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังนานนับเดือนจนเกิดสภาพน้ำเน่าเสียและดินเป็นกรด บางส่วนถูกกระแสน้ำชะล้างหน้าดินออกไป ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยการฟื้นฟูสภาพดินที่มีปัญหาเหล่านี้สามารถทำได้และได้ผลดีโดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้สภาพธรรมชาติกลับมาดังเดิม

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)มุ่งมั่นนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในทุกมิติและให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับตั้งแต่ภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร วิสาหกิจชุมชน ธุรกิจSME ภาคการศึกษา จนถึงภาคอุตสาหกรรม ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า"วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีไว้เพื่อประชาชนทุกคน"

จากการดำเนินงานของ วว. โดย  ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ  ได้ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ปุ๋ยชีวภาพ” ที่ผลิตขึ้นจากจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่มีประโยชน์ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราที่ย่อยสลายแร่ธาตุในดินให้เป็นอาหารแก่พืช แบคทีเรียที่สามารถสร้างปุ๋ยให้แก่พืชได้ รวมถึงสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่เปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนในอากาศให้กลายเป็นสารประกอบไนโตรเจนที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งยังช่วยทำให้ดินร่วนซุย มีสภาพโครงสร้างที่ดีเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช

โดยเฉพาะ “ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว” จะนิยมนำไปใช้กับนาข้าวเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งในสภาพพื้นที่ทำการเกษตรที่ถูกน้ำท่วมขังแล้วระดับน้ำลดลงจนเหลือเพียง 10 - 20 เซนติเมตรจะมีความชุ่มชื้นและมีสารอินทรีย์ต่างๆ อยู่มากซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว

ทั้งนี้เมื่อหว่านเม็ดปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวลงไปในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ และทิ้งไว้2 สัปดาห์ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากการใช้สารอินทรีย์ น้ำและแสงแดดในการเจริญเติบโตสามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศให้อยู่ในรูปสารประกอบแอมโมเนียมแล้วปลดปล่อยลงสู่น้ำและดินรวมถึงช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินและโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช

 เมื่อระดับน้ำลดลงจนเกือบแห้งแล้ว เกษตรกรสามารถทำการไถพรวนเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกได้ทันที ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู ช่วยลดระยะเวลาในการเตรียมดิน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรผู้ใช้ จึงเป็นการลงทุนเพียงเล็กน้อยแต่ได้ประโยชน์หลายต่อทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

หากเกษตรกรสนใจที่จะนำปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวมาใช้ฟื้นฟูดินหลังน้ำท่วม สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือข้อมูลบนฉลากกระสอบปุ๋ย โดยต้องมีรายละเอียดครบถ้วนที่ฉลากหรือกระสอบปุ๋ยทั้งเลขทะเบียนปุ๋ยต้องระบุชนิดและจำนวนของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว อัตราการใช้ ชื่อที่อยู่ของผู้ผลิตและวันที่ผลิต นอกจากนี้หากมีตรารับรองอื่นๆ จากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา หรือตรามาตรฐานที่เป็นสากล จะช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้นได้ว่า ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายฯ ที่ซื้อมาใช้นั้นมีคุณภาพ และได้ประโยชน์คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

สำหรับเกษตรกรที่มีทุนน้อย สามารถใช้วิธีขยายปริมาณปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวก่อนที่จะนำไปใช้ได้ โดยผสมปุ๋ยชีวภาพ 1 กิโลกรัม กับปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัม ทั้งนี้หากไม่สามารถหาซื้อปุ๋ยหมักได้ สามารถใช้ดินร่วนที่มีเศษใบไม้ทับถมตามโคนต้นไม้ เช่น ดินใต้ต้นก้ามปู หรือดินรอบๆ กอไผ่ นำมาใช้ทดแทนปุ๋ยหมักได้

โดยเมื่อผสมส่วนผสมทั้งหมดดังกล่าวแล้วให้หว่านลงไปในบ่อดินขนาด4 - 5 ตารางเมตร ลึก 10 เชนติเมตร แล้วเทน้ำลงไปจนเต็มบ่อ ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์จนน้ำแห้ง สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวจะจับตัวกันเป็นแผ่นบางๆ เกษตรกรสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดินได้ โดยปุ๋ยชีวภาพจากสีน้ำเงินแกมเขียว1 กระสอบขนาด 50 กิโลกรัม สามารถขยายปริมาณได้ถึงประมาณ 200 กิโลกรัม และใช้ได้กับพื้นที่ประมาณ 4 - 5 ไร่ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้จำนวนมากแต่ได้ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูดินที่ใกล้เคียงกัน แม้จะใช้ระยะเวลามากกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้หากเกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้กว่า50% โดยที่ดินจะมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นและได้ปริมาณรวมถึงคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรมากยิ่งขึ้นด้วย

เกษตรกรหรือผู้สนใจสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว” ติดต่อได้ที่ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. โทร.02577 9058  (นายประธาน  โพธิสวัสดิ์)อีเมล brc@tistr.or.th เว็ปไซต์www.tistr.or.th/Bio-Industries/BRC/ หรือที่ “วว. JUMP”