In Bangkok
กทม.ทำเอ็มโอยูกับ6หน่วยงานดูแลผู้ป่วย ด้านโภชนากาขยายผลผู้ป่วยติดเตียง
กรุงเทพฯ-(11 พ.ย. 67) เวลา 10.00 น.: นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.วินัย อึงพินิจพงศ์ นายกสมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และ Mr. Anirban Basu ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ร่วมลงนามใน "บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ NUTRITION INPATIENT CARE EXCELLENCE (NICE)" ระหว่างกรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยด้านโภชนาการเพื่อผลการรักษาที่ดี
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เห็นความสำคัญของการจัดบริการทางการแพทย์ และมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาลของบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดสำนักการแพทย์ รวมทั้งเพิ่มภาคีเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ จากเป้าหมายการพัฒนากรุงเทพมหานครดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความร่วมมือเพื่อพัฒนาการดูแลโภชนาการ โดยมุ่งมั่นการเรียนรู้การดูแลโภชนาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพในหน่วยบริการ จะสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี อาทิ ช่วยพัฒนาการดูแลโภชนาการ ประเมินภาวะโภชนาการ วิจัยทางโภชนาการ เสริมสร้างกระบวนการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มีแนวทางปฏิบัติเป็นมาตรฐานที่เกิดจากการเรียนรู้และความร่วมมือของสหสาขาวิชาชีพ ตลอดจนเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการ และสร้างความยั่งยืนของความเป็นเลิศด้านโภชนาการผู้ป่วยในโรงพยาบาล หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นส่วนที่ช่วยให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครเกิดความมั่นใจ และไว้วางใจในระบบบริการสุขภาพของกรุงเทพมหานครต่อไป
“กทม. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมในโครงการนี้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เพราะจริง ๆ แล้วเรามีเตียงอยู่แค่ประมาณ 13% ของเตียงทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร แต่เป้าหมายใหญ่ของเราคงไม่ใช่คนไข้ที่อยู่ที่โรงพยาบาล เพราะเรามีคนไข้ที่ติดเตียงในชุมชนอีกกว่า 20,000 คน ที่อาจจะขาดสารอาหารมากกว่าคนไข้ที่โรงพยาบาล ถ้าเราสามารถขยายสเกลจากโรงพยาบาล แล้วช่วยคนที่ลําบากที่อยู่ในชุมชน ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ในการนี้ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องประชุม 302 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย