In News

นายกฯชูผลงาน'โครงการรักษาทุกที่' ปัง! มั่นใจนโยบายบีโอไอดึงนักลงทุนเอเปคได้



กรุงลิมา-สภาธุรกิจ เอเปคชื่นชมนายกไทยแลนด์ มีวิชั่นน่าสนใจหลังขึ้นกล่าวบนเวที แชร์ผลงานโครงการรักษาทุกที่เวิร์คพร้อมเชิญชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพคนทุกวัย มั่นใจหลังให้นโยบาย “บีโอไอ” พร้อมสนับสนุนเต็มที่คาดนักธุรกิจเอเปคให้ความสนใจลงทุนไทย และนายกฯ ย้ำสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม MSMEs ในอาเซียนกลางวงสภาที่ปรึกษาธุรกิจของเอเปคพร้อมขอความร่วมมือช่วยกันต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก หลังภาคเหนือของไทย และหลายประเทศในอาเซียน ประสบภัยธรรมชาติ

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 12 ชม.) ณ the Grand National Theater of Peru กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับเกียรติจากที่ประชุม ในการขึ้นกล่าวบนเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (the APEC CEO Summit) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอบคุณที่ประเทศไทยได้รับเกียรติในครั้งนี้ ทั้งนี้เชื่อว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุก ๆ ท่าน เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ โดยปัจุบันพบว่า ความสูงวัย สุขภาพ และนวัตกรรม นั้นเกี่ยวกันโดยตรงที่จะส่งผลกับโอกาสทางเศรษฐกิจในทุกด้านที่ทุกประเทศต้องเผชิญร่วมกัน ทั้งนี้ประเทศไทยเชื่อว่าหากประชาชนมีสุขภาพที่ดีก็จะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ และจะเป็นความมั่งคั่งที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยภูมิใจที่สามารถบรรลุเป้าหมายในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม "โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” (Universal Health Coverage (UHC) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของคนไทยมีราคาไม่แพงแต่มากด้วยคุณภาพในการรักษาและเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมสุขภาพของคนไทยทุกคน

 

“กว่า 22 ปี ของโครงการนี้ ปัจจุบันสามารถยืนยันได้ว่าคนไทยเกือบทั้งประเทศมีระบบประกันสุขภาพของรัฐ ที่ทำให้ครอบครัวและผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดีได้และรัฐบาลไทยในปัจจุบันเชื่อมั่นว่าระบบสาธารณสุขถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอีกด้วย และที่ผ่านมา ประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร (demographic shift) ที่ประชากรมากกว่า 20% มีอายุมากกว่า 60 ปี และไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูง (Super Aged Society) ภายในทศวรรษหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังในการพัฒนาประเทศลดน้อยลง รัฐบาลไทยจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าหรือ UHC เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน”

นายกรัฐมนตรีกล่าว อีกว่า ในเดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับปรุงนโยบายเมื่อ 22 ปีที่แล้วมาเป็นนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งหมดมีความพร้อมที่จะดูแลรักษาประชาชนคนไทย โดยรัฐบาลได้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยในการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การนัดแพทย์ การส่งต่อ การวินิจฉัยโรค การสั่งยา การบริการสุขภาพ และเข้าถึงผู้คนทุกวัย โดยรัฐบาลยังกำหนดค่าใช้จ่ายไว้เพียงแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ  เหมือนเมื่อ 22 ปีที่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้สึกที่ดี มีศักดิ์ศรี ที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการ ไม่ใช่มาขอรับการรักษาฟรีจากรัฐ ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ของไทยทุกคนสำหรับการบริการและความทุ่มเท โดยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นโดย ประชาชนสามารถตรวจสุขภาพหรือปรึกษาแพทย์จากที่ใด ๆในประเทศไทยได้ โดยปัจจุบันรัฐบาลได้เชื่อมโยง ข้อมูลสุขภาพ (Health Link) กับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้บริการดูแลสุขภาพอย่างไร้รอยต่อในทุกสถานพยาบาลของไทย

“ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เรามีแอปพลิเคชันสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book Application) ที่ให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพกับผู้สูงอายุ และมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถติดตามสุขภาพและความเป็นอยู่อย่างจริงจังมากขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสุขภาพที่ดีของประเทศไทย” 

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เมื่อ 21 ปีที่แล้วประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2003  ขณะนั้นในภูมิภาคเผชิญกับปัญหาโรคซาร์ส ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลก รัฐบาลไทยในขณะนั้นตั้งคณะทำงานด้านสุขภาพ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว และได้เปลี่ยนมาเป็นคณะทำงานด้านสุขภาพ ภายใต้กระบวนการทำงานของเอเปคในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันมีภารกิจครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบสุขภาพที่มีความพร้อมอย่างรอบด้าน  และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2022) ไทยเป็นเจ้าภาพจัด APEC Health Week Policy Dialogue ที่กรุงเทพฯ และทำงานกับภาคเอกชนเพื่อเปิดตัวโครงการ APEC Smart Family ซึ่งเป็นการทำงานด้านนโยบาย ในรูปแบบการเพิ่มปริมาณประชากร เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวทางประชากรในเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเอเปคสนับสนุนคนในทุกช่วงวัยเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข และมีเป้าหมาย เนื่องจากผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น เอเปคจึงมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในระบบเศรษฐกิจเช่น จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับผู้สูงวัย 

ทั้งนี้ APEC มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในบางประเทศที่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้เพียงลำพังได้ เอเปคจึงจำเป็นที่ต้องใช้แนวทางความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่สนับสนุนให้ประชากรสูงวัยมีชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น และขอสนับสนุนให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมทักษะใหม่และยกระดับทักษะอีกด้วย

นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ความรู้ที่มีเกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้แนะให้ดูแลสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายได้ดีขึ้น สามารถลดโอกาสการเกิดโรคร้ายแรงได้ และจากแนวคิดนี้ จึงเกิด ธุรกิจ "เวลเนส" (the Care and Wellness Economy) ซึ่งผสมผสานสุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง และต้นทุนที่ไม่สูงนัก ทำให้ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้นโยบายกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย ให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ บริการด้านสาธารณสุข และการวิจัยทางคลินิก ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ไทยมุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปคและสภาธุรกิจเอเปคมากขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคและพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

“ทั้งนี้ หลังการกล่าวเสร็จสิ้นที่ประชุมได้ปรบมือต่อเนื่องแสดงความชื่นชมในตัวผู้นำของประเทศไทยที่เป็นสุภาพสตรี เพียง 1 ใน 2 ท่านของผู้นำประเทศเอเปคที่กล่าวบนเวทีได้อย่างน่าสนใจ” 

นายกฯย้ำสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม MSMEs ในอาเซียน

เวลา13.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในช่วงอาหารกลางวัน (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders) โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ “ประชาชน ภาคธุรกิจ และความรุ่งเรือง” (People. Business. Prosperity.)ว่า“ยินดีที่ได้มาร่วมกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC)  ซึ่งหัวข้อของการประชุมของ ABAC ในปีนี้สอดคล้องกับหัวข้อการประชุม APECของเปรูที่ว่า “เสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตอย่างยั่งยืน”และตนสนับสนุนความคิดริเริ่มของเปรูในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (the transition to the formal and global economy) โดยแรงงานมากกว่าครึ่งของเอเปคมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งบทบาทของการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างการเข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ และกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างมาก  ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีความท้าทาย ในเรื่องต้นทุน และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น ดังนั้นการสนับสนุนผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพโอกาส ในการเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ๆตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม"

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า นอกจากการค้า การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค นั่นก็คือการเติบโตทางนวัตกรรมทางการเงิน และระบบการชำระเงินดิจิทัลที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ ได้ โดยประเทศไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางระบบให้ประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถชำระเงินผ่านรหัส QR code  ระหว่างกันได้แล้วซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรม การเงิน ข้ามพรมแดน ได้อย่างสะดวกรวดเร็วอันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยัน สนับสนุนให้เอเปค พิจารณาโครงการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนต่อไป เพื่อส่งเสริมระบบการเงินที่เสรี มีความปลอดภัยและแข่งขันได้

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นถึงความยั่งยืน ที่จะเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เน้นประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ปีนี้โลกเผชิญกับสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง อย่างในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน จึงเป็นช่วงเวลาที่แต่ละประเทศต้องร่วมมือกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังยินดีที่เปรูผลักดันประเด็นสำคัญอย่างเช่น พลังงานสะอาด เช่นไฮโดรเจน และพลังงาน คาร์บอนต่ำ รวมถึงการป้องกันและลดการสูญเสีย และขยะอาหาร ซึ่งทั้งสองอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายปฏิญญา กรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ของไทย พร้อมกล่าวชื่นชม National Center for APEC (NCAPEC) สำหรับการจัด Sustainable Future Forum เป็นปีที่สองติดต่อกันซึ่ง เป็นโอกาสดี ที่จะขับเคลื่อนและควรสนับสนุนถึงความพยายามเชิงนวัตกรรมและครอบคลุมจากภาคเอกชน องค์กร NGO และสถาบันการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะดำเนินการต่อไป