In News

ภารกิจนายกฯประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงลิมา ย้ำความสำเร็จชักชวนนักลงทุนต่างชาติ



กรุงลิมา-ประเทศไทยต้องยืนหนึ่งบนเวทีโลก นายก ฯ “แพทองธาร” ย้ำบนเวทีระดับโลก ไทยแลนด์พร้อมแล้วสำหรับการลงทุนและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจขอบคุณเปรูให้ความสำคัญกับผู้นำไทย ขณะที่สื่อมวลชนให้ความสนใจผู้นำไทยในเวทีเอเปคอย่างมาก ก่อนหน้านี้ นักเรียนไทยในเปรูขอบคุณ นายกฯ “อิ๊งค์” เข้าใจเยาวชน เตรียมวางนโยบายมอบทุนศึกษาต่อต่างประเทศ เน้นสาขาเทคโนโลยีอนาคต -AI ที่ตลาดต้องการมาก หวังให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวกระโดด ยืนยันกลับไทยจะเร่งสรุปเรื่องทุนไปนอกของเด็กและเยาวชนทันทีและช่วงปิดฉากประชุมเอเปคอย่างสวยงาม เชื่อมั่นการประชุมครั้งที่ 31 นี้ เอเปคจะเป็นผู้นำในการ "สร้างอนาคตที่ยั่งยืน"ในโลกได้

“ก่อนการเดินทางกลับประเทศไทยช่วงเวลา 18 นาฬิกาของวันนี้ (วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน) ตามเวลาเปรู ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 ชั่วโมง โดยจะถึงประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน ประมาณ 11 นาฬิกา ตามเวลาในประเทศไทย นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สรุปภาพรวมภารกิจ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชม เปรูในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด BCG Economy หรือ Bio-circular -Green ecocomy สำหรับการประชุมครั้งที่ 31 นี้มีหัวข้อหลัก เช่นการเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วม และการเติบโตที่ยั่งยืน (Empower Inclusive Growth) เพื่อให้สมาชิกเติบโตไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนการลงทุน และผลักดันให้เกิดการค้าเสรี หรือ FTA  ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม ดิจิทัลและการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งตรงกับนโยบายที่ไทยกำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคมีแนวทางเดียวกันในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานแห่งอนาคตที่ยั่งยืน และวิธีการรับมือกับอุปสรรคและปัญหาจากภัยธรรมชาติ  การนำเทคโนโลยีที่แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน มาสนับสนุนและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เวทีการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders ) ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ โดยได้คุยกับนักธุรกิจระดับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจ อาทิ พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า และ AI ซึ่งหลายบริษัทสนใจลงทุนในประเทศไทยมาก และได้เชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเน้นไปที่เทคโลโลยี AI  Semiconductor และ Data center  และ ยังได้พูดคุยกับเอกชนยักษ์ใหญ่  3 บริษัท ประกอบด้วย Tiktok Microsoft และ Google  ที่แจ้งว่าสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม

“การลงทุนอย่าง Data center จะทำให้คนไทยเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี ของไทยตอนนี้เติบโตไม่เต็มศักยภาพ การหาเม็ดเงินใหม่ๆเข้าประเทศจะให้คนไทยมีรายได้และมีอาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหมื่น การสร้างรายได้ใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุน และการหาเม็ดเงิน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งทุกกรอบการประชุมต่างๆ ได้ระบุไปว่า ไทยพร้อมแล้วที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart farming อย่างแท้จริง”

ส่วนการหารือทวิภาคีกับ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอชี่นชมเปรูในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2024 นี้  ยืนยันว่า ไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันโดยเฉพาะการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย-เปรู ซึ่งเปรูเพิ่งเปิดท่าเรือชางใค ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยได้เป็นอย่างมาก และสามารถเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยในอนาคตได้อีกด้วย 

“จะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นำไปพิจารณาถึงผลิตภัณฑ์ ขนสัตว์อัลปากาของเปรูที่มาทำเป็นเสื้อผ้า มาผสมผสานกับผ้าไหมของไทย เพื่อให้เกิดเนื้อผ้าพิเศษขึ้นมาเพื่อนำเสนอเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของทั้งสองประเทศ มารวมกันเพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง”

ส่วนการหารือทวิภาคีกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พูดคุยถึงความร่วมมือกันในปีหน้า ที่ไทย-จีน จะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี โดยจีนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระเขี้ยวแก้ว มาประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทยในวันที่ 4 ธันวาคมนี้   และจีนยืนยันที่จะมอบหมีแพนด้ายักษ์มาประเทศไทยอีกครั้ง  

นอกจากนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาประเทศของจีน ในการลดความยากจนในประเทศรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ และได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีจีนกล่าวยินดีและยืนยันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ Online scam ระหว่างกัน และจะสนับสนุนไทยเข้าร่วม BRICS ด้วย
  
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเข้าร่วมงานกาล่าดินเนอร์ทั้ง 2 คืน ทั้งในงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner และ งานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคว่า “ได้สร้างความมั่นใจให้กับประเทศไทยและเชิญชวนภาคเอกชนเขตเศรษฐกิบสมาชิกมาลงทุนที่ประเทศไทย ตลอด 3 วัน ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก  เพราะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อกัน ขณะเดียวกันย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลกด้วยว่า ประเทศไทยพร้อมแล้ว สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและสมาชิกเอเปค โดยมั่นใจว่าการได้พูดคุยกันจะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และหาโอกาสให้กับประเทศไทยได้ง่ายขึ้น" นายกรัฐนตรีกล่าว

ว่าเจ้าภาพเปรูเป็นประธานจัดงานได้อย่างยอดเยี่ยมโดยเฉพาะเวทีการประชุมในแต่ละเวทีตลอด 3 วัน ได้สอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมของเปรูไว้ทุกเวที นายกรัฐมนตรี ผู้นำของประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างมาก ในทุกครั้งที่ขึ้นกล่าวหรือแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุม โดยสื่อมวลชนต่างชาติ ต่างให้ความสนใจนายกรัฐมนตรีสุภาพสตรี 1 ใน 2 คนของไทยในการประชุมครั้งนี้อย่างมาก 

นักเรียนไทยในเปรูขอบคุณ นายกฯ “อิ๊งค์” เข้าใจเยาวชน 

นางสาวแพทองธาร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ในการประชุม APEC CEO Summit และจากการได้พบปะและพูดคุยกับน้องๆเยาวชนคนไทยที่มาเป็นอาสาสมัครและมาช่วยงานในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ทราบว่ามีความต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนทุนการศึกษา ซึ่งตรงกับนโยบาลรัฐบาลที่อยากให้เด็กไทยมีทุนการศึกษาที่มากขึ้นเพื่อมีโอกาศพัฒนาบุคคล และพัฒนาชาติไปพร้อมๆ กันด้วย 

“จะสนับสนุนน้องๆที่อยากจะไปเรียนต่างประเทศ และจะกำหนดนโยบายให้เปลี่ยนไปศึกษาในสาขาวิชา ที่เกี่ยวข้องกับ พวกเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้มากขึ้น ซึ่งสาขาการบริหารธุรกิจและการตลาด ที่นิยมมาเรียน น่าจะลดลงเพราะที่ประเทศไทยก็มีดีอยู่แล้วแต่ศาสตร์ด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าหรือ AI เป็นตลาดธุรกิจที่ต้องการมาก รัฐบาลจะสนับสนุนตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาและประเทศไทยด้วย”

นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า "การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเยาวชนกับรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ขอส่งกำลังใจให้น้องๆทุกคน พร้อมยืนยันว่ากลับไปจะไปพิจารณาเรื่องการให้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในต่างประเทศทันที" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปิดฉากประชุมเอเปคอย่างสวยงาม 

สร้างโอกาส สร้างความร่วมมือและปฎิญญากรุงเทพ BCG ที่ไทยพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่“เศรษฐกิจสีเขียว” เชื่อมั่นการประชุมครั้งที่ 31 นี้ เอเปคจะเป็นผู้นำในการ "สร้างอนาคตที่ยั่งยืน"ในโลกได้

วันเสาร์ (16 พฤศจิกายน 2567) เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง) ณ ห้อง Lima ชั้น 1 Lima Convention Center วันที่ 3 ของการประชุม  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมผู้นำ ในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat) โดยมีนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Ms. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเปรูเป็นประธาน 

หลังการประชุมนัดสุดท้ายก่อนพิธีปิดการประชุม เอเปค ครั้งที่ 31 อย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีเปรูและประชาชนชาวเปรู ในการต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดการเดินทางมากรุงลิมา  อีกทั้งขอขอบคุณในงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อผู้นำเอเปค เมื่อคืนที่ผ่านมาที่เจ้าภาพเปรูได้เลี้ยงรับรองด้วยอาหารที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเปรูออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมและขอขอบคุณกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ  IMF ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับสมาชิกเอเปคทราบถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกันเชื่อว่า เอเปค เป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอย่างมากระหว่างสมาชิกเอเปค ด้วยกัน  และมั่นใจว่าด้วยการทำงานร่วมกันของสมาชิกจะสามารถสร้างเวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและมีปัจจัยใหม่ๆในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกประเทศ  โดยมีประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน” 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างความร่วมมือและก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ร่วมกันของประเทศสมาชิก เอเปค ดังนี้ 

1.  เราจะ “สร้างโอกาสสำหรับทุกคน ”(opportunities for all)  โดยสมาชิกเอเปคจะทำงานร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังซึ่งแนวคิดนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่สมาชิกต้องบริหารจัดการกับเศรษฐกิจ“ในระบบ”ที่สมาชิกสามารถตกลงร่วมกันได้   แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยเข้าใจถึงความท้าทายของการบริหารการ“ทำงานนอกระบบ ”เนื่องจากในประเทศไทยยังพบว่ายังมีแรงงานและธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าครึ่งยังอยู่ในการทำงาน “นอกระบบ”

โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ใขเพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงาน "ในระบบ" ให้เติบโตในทุกมิติด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึง AI มาใช้เป็นกลไกสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านระบบการเงินดิจิทัลให้กลุ่มเปราะบางของไทยให้มีโอกาศทัดเทียมกันในการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายในการขจัดความยากจน นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังพิจารณานำ "Negative Income Tax" ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เสียภาษีและไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี มาอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพื่อจะจัดสรรประโยชน์จากรัฐที่เป็นธรรมมากที่สุด 

“สำหรับความร่วมมือของสมาชิก เอเปค ควรเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในภูมิภาค เพราะนอกจากจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันได้โดยง่าย โดยเฉพาะกลุ่ม “Digital Nomad”หรือกลุ่มคนที่มีธุรกิจค้าขายผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ เอเปค ควรจัดทำสิทธิพิเศษเป็นบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค APEC Business Travel Card (ABTC) ในประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางค้าขายระหว่างกันมากขึ้นอีกด้วย”

2. ประเทศไทยมีแนวคิด ส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการค้า ดังนั้นการเตรียมพร้อมสำหรับ FTAAP จะเสริมสร้างขีดความสามารถในประเทศสมาชิกได้โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึง MSMEs  และกลุ่มบุคคลทุกเพศทุกวัย ขณะเดียวกันประเทศไทยเชื่อว่าการสร้างสิ่งใหม่ๆและพัฒนาในโลกการเงินที่เรียกว่า "สร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน" ที่สมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการปกป้อง มีเสถียรภาพ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้อีกด้วย

3. เอเปคต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเป้าหมายที่เคยประชุมร่วมกันที่กรุงเทพหรือ “BCG” ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยวางแผนการเพิ่มพลังงานสะอาด 20 กิกะวัตต์ภายใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065

ทั้งนี้ประเทศไทยขอให้ เอเปค เป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญในการเปลี่ยน ไปสู่ BCG รวมทั้งสนับสนุนให้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดและการค้าเครดิตคาร์บอนร่วมกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่าเอเปคสามารถเป็นผู้นำในการ "สร้างอนาคตที่ยั่งยืน" ร่วมกันได้

นายจิรายุ กล่าวต่อไป  นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายว่า "แม้จะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในเอเปค แต่เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้ จะทำให้เอเปค ใกล้บรรลุผลในการทำงานร่วมกันและใกล้ชิดประชาชน ทุกประเทศมากขึ้น และขอแสดงความยินดีกับเปรู ในความสำเร็จในการจัดการประชุมและประเทศไทยจะเฝ้ารอความคืบหน้าต่างๆในการประชุม อีกครั้งในโอกาศที่ประเทศเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพประชุม ในครั้งต่อไป"

ทั้งนี้ที่ประชุม ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Declaration) (2) ถ้อยแถลงอิชมา ว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Ichma Statement on a New Look to advance the Free Trade Area of the Asia-Pacific) และ (3) แผนงานลิมา เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปค (Lima Roadmap to Promote the Transition to the Formal and Global Economy)

ซึ่งถือว่า เป็นการเสร็จสิ้นการประชุมอย่างเป็นทางการ โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะจะออกเดินทางกลับประเทศไทยในเย็นวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 18 นาฬิกาตามเวลา” เปรู“ และ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 27  ชั่วโมง โดยจะถึงท่าอากาศยานทหารอากาศ ดอนเมืองในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 11 นาฬิกาตามเวลาในประเทศไทย นายจิรายุกล่าว