EDU Research & ESG

วว.-โรงไฟฟ้าบางปะกงร่วมถกโจทย์วิจัย นำวทน.ใช้ประโยชน์จากตะกอนดินโคลน



กรุงเทพฯ-วว.-โรงไฟฟ้าบางปะกง ร่วมหารือโจทย์วิจัย นำความเชี่ยวชาญ วทน. แก้ปัญหาและใช้ประโยชน์จากตะกอนดินโคลน

 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย คณะนักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ (ศนว.) ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (ศนย.) ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) ร่วมหารือโจทย์วิจัยกับคณะผู้บริหารและบุคลากรโรงไฟฟ้าบางปะกง นำโดยนายสิริศาสตร์ ขวัญสำราญ หัวหน้ากองบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน และนายอยุธ วิสุทธิแพทย์ หัวหน้ากองเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568  ณ  จ.ฉะเชิงเทรา  โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) โรงไฟฟ้าบางปะกง  นำเสนอโจทย์วิจัยของโรงไฟฟ้าที่มีปัญหาและต้องการให้ วว. เข้าไปช่วยแก้ไข ประกอบด้วย

1.1 ปัจจุบันโรงไฟฟ้านำน้ำจากแม่น้ำบางปะกงซึ่งมีการพัดพาดินตะกอนและเกิดการสะสมอยู่สูงถึง 2-4 เมตรในบ่อพักน้ำก่อนนำไปใช้ในระบบหล่อเย็น

โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่อนุญาตให้ปล่อยน้ำและดินตะกอนดังกล่าวที่ผ่านระบบการผลิตไฟฟ้าลงสู่แม่น้ำ หรือขนย้ายออกนอกพื้นที่โรงไฟฟ้า (แม้ทำการทดสอบแล้วว่าไม่มีสารอันตราย)

1.2 จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกิดโจทย์วิจัยของโรงไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน  ได้แก่

1. การป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมตะกอนดินโคลน ที่ต้นทางก่อนเข้าสู่บ่อพักน้ำ

2. การดูดตะกอนดินโคลนออกจากบ่อพักน้ำ

3. การใช้ประโยชน์จากตะกอนดินโคลน

 จากการนำเสนอโจทย์วิจัยของโรงไฟฟ้า คณะนักวิจัย วว.ได้นำเสนอความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) ศนว. นำเสนอประสบการณ์งานวิจัยด้านการผลิตบล็อกประสาน อิฐมอญและเม็ดสีสะท้อนความร้อน อิฐปูพื้น ผลิตภัณฑ์ดินเผาเพื่อการเกษตรและตกแต่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น เพื่อเป็นการนำตะกอนดินมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

2) ศนย.  เสนอเรื่องการใช้เทคโนโลยีการปาดดินตะกอนที่ปากทางเข้าบ่อพัก ลดการสะสมตะกอน

3) ศนพ.  เสนอแนวคิดการทำสารปรับปรุงดินจากกากตะกอนดิน และเสนอให้ประสานกรมชลประทานนำเรือขุดมาบริหารจัดการเพื่อเอากากตะกอนออก