EDU Research & Innovation
จับตาพาเหรดดาวเคราะห์หัวค่ำม.ค.-มี.ค. ดาวเคราะห์เรียงตัวเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง
ปราจีนบุรี-เมื่อเวลา 23.05 น.วันนี้ 24 ม.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปราจีนบุรีได้รับแจ้งจากงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้ชาวไทยชวนจับตา “พาเหรดดาวเคราะห์” หรือ “ดาวเคราะห์เรียงตัว” ช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 68 ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจะปรากฏเรียงกันบนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ได้แก่ ดาวเสาร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคาร สังเกตได้ด้วยตาเปล่า รวมถึง ดาวเนปจูน ดาวยูเรนัส สังเกตเห็นได้หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ทั้งนี้ ดาวเคราะห์ไม่ได้โคจรเรียงตามกันแต่อย่างใด เป็นเพียงความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้ายามค่ำคืนในมุมมองจากโลก และเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก
ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ สดร. เปิดเผยว่า ช่วงต้นปี 2568 ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะทุกดวงจะปรากฏบนท้องฟ้าเรียงกันในช่วงหัวค่ำ ได้แก่ ดาวเสาร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคาร หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะมองเห็นดาวยูเรนัส และเนปจูน ด้วยซึ่งสองดวงนี้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่จะชมดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้พร้อม ๆ กัน
พาเหรดดาวเคราะห์ หรือปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงเป็นแนวบนท้องฟ้าเช่นนี้ เกิดจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะแต่ละดวงโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ในช่วงเวลาเดียวกันจากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วดาวเคราะห์ทุกดวงจะปรากฏตามระนาบสุริยวิถี (แนวการขึ้นตกของดวงอาทิตย์) เป็นปกติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก และหากมองในมุมมองจากอวกาศจะยิ่งพบว่าการเรียงตัวของดาวเคราะห์นั้นไม่ได้สอดคล้องกับการเรียงแถวในวงโคจร สิ่งที่พิเศษจริง ๆ คือการที่ดาวเคราะห์ทุกดวงจะปรากฏบนท้องฟ้าพร้อมกันในช่วงหัวค่ำ
ในช่วงเดือนมกราคม 2568 ดาวเสาร์ ดาวศุกร์ ดาวเนปจูน ดาวยูเรนัส ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคาร จะปรากฏเรียงกันในช่วงหัวค่ำ ยกเว้นดาวพุธที่ยังคงปรากฏในช่วงรุ่งเช้า หลังจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป ดาวพุธจะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำร่วมกับดาวเคราะห์อื่น ๆ นอกจากนี้ ในวันที่ 1 มีนาคม 2568 ตรงกับดวงจันทร์ข้างขึ้น 1 ค่ำ ดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะรวมถึงดวงจันทร์จะปรากฏพร้อมกันบนท้องฟ้า เรียงตัวตามแนวเส้นสุริยะวิถี ซึ่งจะปรากฏในลักษณะนี้ไปตลอดจนถึงต้นเดือนมีนาคม ก่อนที่ดาวเสาร์จะเปลี่ยนไปปรากฏในช่วงรุ่งเช้าหลังวันที่ 12 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
ดร. มติพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งวันที่โลกหมุนรอบตัวเอง ดาวเคราะห์ทุกดวงจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ลักษณะเดียวกันกับดวงอาทิตย์ แต่เนื่องจากเราสามารถเห็นดาวเคราะห์ได้ในช่วงกลางคืนเท่านั้น เช่น “ดาวศุกร์” ที่คนไทยมักจะรู้จักกันในชื่อ “ดาวประกายพรึก” ปรากฏในช่วงรุ่งเช้า และ “ดาวประจำเมือง” ปรากฏในช่วงหัวค่ำ ซึ่งเป็นดาวดวงเดียวกัน และไม่สามารถสังเกตเห็นได้พร้อมกันในคืนเดียว ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงนั้นดาวศุกร์ขึ้น - ตก ก่อนหรือหลังดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์อื่น ๆ ก็เช่นกัน แต่ละดวง และแต่ละช่วงเวลา จะปรากฏช่วง “หัวค่ำ” หรือ “เช้ามืด” ในคืนหนึ่ง ๆ เสมอ
สำหรับดาวเคราะห์วงนอก เช่น ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ หากโคจรอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเคราะห์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง เป็นช่วงที่เราเรียกว่า ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก จะสามารถสังเกตเห็นได้เกือบตลอดทั้งคืน เช่น ดาวอังคาร ที่เพิ่งจะผ่านตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
ดังนั้นในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2568 ที่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจะปรากฏพร้อมกันในช่วงหัวค่ำเช่นนี้จึงนับว่าเป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่หาชมได้ยาก ผู้สนใจสามารถติดตามชม “พาเหรดดาวเคราะห์” หรือ “ดาวเคราะห์เรียงกัน” ได้แก่ ดวงจันทร์ ดาวเสาร์ ดาวพุธ ดาวเนปจูน ดาวศุกร์ ดาวยูเรนัส ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคาร ได้ตามช่วงเวลา ดังนี้
16 ม.ค. - 29 ม.ค. ปรากฏพร้อมกันทุกดวง ยกเว้นดวงจันทร์ และดาวพุธ
30 ม.ค. - 13 ก.พ. ปรากฏพร้อมกันทุกดวง ยกเว้นดาวพุธ
14 ก.พ. - 16 ก.พ. ปรากฏพร้อมกันทุกดวง ยกเว้นดวงจันทร์ และดาวพุธ
17 ก.พ. - 28 ก.พ. ปรากฏพร้อมกันทุกดวง ยกเว้นดวงจันทร์ *Highlight*
1 มี.ค. - 5 มี.ค. ปรากฏพร้อมกันทุกดวง *Highlight*
6 มี.ค. - 15 มี.ค. ปรากฏพร้อมกันทุกดวง ยกเว้นดาวเสาร์
หมายเหตุ: ดาวเนปจูน และดาวยูเรนัส มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์
ช่วงฤดูหนาวท้องฟ้าปลอดโปร่งสามารถชมได้ด้วยตาเปล่า หรือหากอยากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ สามารถมาร่วมกิจกรรม “NARIT Public Night: ดูดาวทุกคืนวันเสาร์” ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม และหอดูดาวภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และ สงขลา เข้าร่วมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
มานิตย์ สนับบุญ081-/ปราจีนบุรี