EDU Research & Innovation
ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ#75 เตรียมพบกับความยิ่งใหญ่เสาร์15ก.พ.นี้
กรุงเทพฯ-5 ปีที่รอคอย กับความยิ่งใหญ่ที่หวนคืนกลับมา การแข่งขันฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ ระหว่างสองมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะกลับมาร่วมสร้างความทรงจำครั้งใหม่ ศึกช้างชนช้างฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75 สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเจ้าภาพการจัดงานในปีนี้ ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขุมพลังจากนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบัน มาร่วมสร้างบทบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ไปด้วยกันกันอีกครั้ง ในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามศุภชลาศัย ประตู 5 (ฝั่งธรรมศาสตร์) เวลา 12.25 น. และประตู 18 (ฝั่งจุฬาฯ) เปิดสำหรับผู้ลงทะเบียนเวลา 11.00 น. และสำหรับบุคคลทั่วไป Walk-In เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป
เป็นเวลากว่า 9 ทศวรรษ งานฟุตบอลประเพณีฯ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 ธันวาคม 2477 จากแนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่งที่มีผูกพันธ์ เพื่อเป็นการเชื่อมความสามัคคีกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอล จึงได้ถือเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยทั้งสองสถาบันจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละครั้ง ในการแข่งขันครั้งที่ 10 เมื่อ วันที่ 30 ธันวาคม 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยพระราชทานเป็นปีแรก เมื่อปี พ.ศ. 2492 (การแข่งขัน ครั้งที่ 12) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน และพระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันฯ ในปีต่อมา
จากวันนั้นถึงวันนี้ ครั้งที่ 75 กำลังจะเกิดขึ้น อย่างสมเกียรติ และศักดิ์ศรีของทั้งสองสถาบัน งานฟุตบอลประเพณีฯ ห่างหายไปนานกว่า 5 ปี ครั้งที่ 75 ถือเป็นวาระพิเศษ และไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ยืนยันด้วยภาพบรรยากาศงานวันแถลงข่าวเปิดตัว “ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ” ครั้งที่ 75 เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2568 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำทัพโดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ,นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ,นายลวรณ แสงสนิท ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายจุฬาฯ ,นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายธรรมศาสตร์ฯ ,รศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการดีจุฬาฯ ,ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วย นายสุทธิพันธ์ วรรณวินเวศร์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลจุฬาฯ ,นายสมชาย พูลสวัสดิ์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลธรรมศาสตร์ พร้อมตัวแทนนักกีฬาทั้งสองสถาบันมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ อาทิ เช่น ลีซอ ธีรเทพ วิโนทัย อดีตกองหน้าทีมชาติ มาพร้อมกับทีมนักเตะจุฬาฯ เป็นต้น พร้อมด้วย ทีมคทากร ,ผู้นำเชียร์ เชียร์ลีดเดอร์ ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ร่วมแสดงสปิริตโชว์ร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง เพื่อยืนยันถึงความพร้อมของงาน จากการเปิดเผยของประธานการจัดงานทางธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ได้กล่าวถึงแนวคิดหลัก “Dawn of Memory” กับ “ความทรงจำครั้งใหม่” ของสองสถาบัน อยากให้ทุกคนเก็บความทรงจำดี ๆ ที่เป็นความทรงจำครั้งใหม่ ส่วนฝั่งจุฬาฯ มาในแนวคิด “The Time of Tapestry อดีต อนาคต ของปัจจุบัน..”
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายธรรมศาสตร์ฯ “ในฐานะทางธรรมศาสตร์ ปีนี้เราเป็นเจ้าภาพ มุ่งเน้นการส่งต่อความรักความสามัคคีที่มีให้กัน รวมทั้งการทำกิจกรรมเพื่อสังคม สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ,ส่วนไฮไลท์คือการแปรอักษร ,ขบวนเดินพาเหรด ,ทีมคทากร และเชียร์ลีดเดอร์ ,ภาคการแสดง เป็นต้น” นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ได้กล่าวถึง..”งานในครั้งที่ 75 ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน ขอเป็นตัวแทนในการกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดงานทุกภาคส่วน รวมทั้งศิษย์เก่า ,ศิษย์ปัจจุบัน ทั้งจุฬาฯ -ธรรมศาสตร์ สิ้นสุดการรอคอยมานานกว่า 5 ปี อีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน ทางธรรมศาสตร์ชำนาญในการแปรอักษรอยู่แล้ว ล้อเลียนการเมือง ปีนี้เราเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ทั้งหมด..” ส่วนทางฝั่งจุฬาฯ ก็ไม่น้อยหน้า ยืนยันหนักแน่นว่า “ทางจุฬาฯ ทุกระบบเราพร้อมเต็มที่ ส่วนงานแปรอักษรที่มีการตอบโต้กัน เรารวมพลังกันใช้นิสิตมากกว่า 1,000 คน บนอัฒจันทร์ เชียร์ อยากเชิญชวนทุกๆท่าน มาร่วมงาน เราจะได้เห็นถึงพลังของความรักและความสามัคคี..” นายลวรณ แสงสนิท ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายจุฬา ฯ กล่าวทิ้งท้าย..
อีกสิ่งที่สำคัญของงานฟุตบอลประเพณีฯ ก็คือ เสื้อเชียร์ประจำงาน ทีมธรรมศาสตร์ได้จัดทำเสื้อเชียร์ภายใต้คอนเซปต์ "คราวเรา My place, my race, my victory" ออกแบบโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภากานต์ หะวะนี กับหมายเลข 75 ออกแบบโดยนักศึกษาปริญญาโท รัฐฟ้า ดวงดาว กับเสื้อเชียร์ธรรมศาสตร์ตัวนี้ ถือเป็นการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ที่มีการผสมผสานทั้งดีไซน์ที่ทันสมัย เส้นตารางขาวดำที่เป็นเส้นชัย บ่งบอกถึงความสำเร็จ และตราสัญลักษณ์ของ ธรรมศาสตร์ ส่วนเสื้อเชียร์ฝั่งจุฬาฯ มาจากการถ่ายทอดแนวคิดหลักของงานฟุตบอลประเพณี ผ่านดีไซน์ที่ผสมผสาน อดีต ปัจจุบัน และอนาคตอย่างกลมกลืน ออกแบบโดยนายภูริทัต ชูชัยยะ คณะอักษรศาสตร์ ปีที่ 4
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำครั้งใหม่ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 รวมพลังส่งพลัง ส่งเสียงเชียร์ให้ดังกึกก้องทั้งสนาม วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามศุภชลาศัย ประตู 5 (ฝั่งธรรมศาสตร์) เวลา 12.25 น. ,ประตู 18 (ฝั่งจุฬาฯ) สำหรับประชาชนทั่วไป Walk-In เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป