Think In Truth
'ศิลปะเทวดา'... กำเนิดมาจากชนเผ่าบรู โดย: ฟอนต์ สีดำ

ชนเผ่าบรูหรือลาวโซ่ เป็นชนเผ่าโบราณที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นชนเผ่าที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านอริยะธรรมการก่อนยุคสมัยพุทธกาล เป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อเกี่ยวกับผี และเป็นที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับศาสนาผีในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงมาก่อน ชนเผ่าบรูเป็นชนเผ่าที่มีผิวขาวเหลือง รูปร่างสันทัดโปร่งบาง มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน มีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ไม่มีอักขระที่ใช้เป็นภาษาเขียน ชนเผ่าบรูมีถิ่นที่อยู่ในจั้งหวัดสกลนคร บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม แขวงสะหวันนะเขต แขวงคำม่วน ตามลุ่มน้ำเซบั้งไฟ ลงไปจนถึงแขวงอัตตะปือ
ชนเผ่าบรู ตามงานวิจัยของ สมใจ ศรีหล้า พบว่า ชนเผ่าบรูเป็นชาติพันธุ์ที่พูภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ซึ่งคล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์เขมร และมอญ ชนเผ่าบรูถูกกดขี่ในยุคล่าอาณานิคมให้เป็นทาสแรงงานของชาวฝรั่งเศส จึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นพวกข่า(ขี้ข้า) ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ชนเผ่าบรูเรียกตัวเองเพื่อยกระดับว่าเป็นเจ้าแห่งขุนเขา ซึ่งเป็นที่มาของ “อาณาจักรฟูนัน” หรืออาณาจักรพนม ที่หมายถึงขุนเขานั่นเอง เจ้าแห่งขุนเขาซึ่งหมายถึงเจ้าพ่อเขาเขียว ซึ่งเป็นพระบิดาของนางกวักที่คนไทยยังคงเคารพนับถือจนทุกวันนี้ ซึ่งเจ้าพ่อเขาเขียวเป็นที่มาของพระอินทร์ ซึ่งก็สอดคล้องกับจารึกใน “กเบื้อง จาร” ที่อ่านโดยหลวงปู่อ่ำ ธมฺมทตฺโต หรือพระธรรมวงศ์เวที ที่ได้อ่านและเรียบเรียง กเบื้อง จารไทย ที่คูบัว ถ้ำฤาษี จังหวัดราชบุรี และ ถ้ำเขาหลวงจังหวัดเพชบุรี ที่ได้เอ่ยถึงกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งนามขุนอินทร์
รายละเอียดที่เกี่ยวกับชนชาติไทยกับชนชาติบรู มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรนั้น จะไม่ขอได้พูดถึงในเวลานี้ วันนี้จะขอตั้งข้อสังเกตุศิลปะไทยที่เขียนแนวเทวดา หรือแนวพระอินทร์นั้นได้รับอิทธิพลมาจากอะไร ซึ่งก่อนอื่นก็ต้องขอเล่าถึงความเชื่อมโยงความเชื่อของชนเผ่าบรูให้พอเข้าใจโดยสังเขป ชนเผ่าบรูเป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อเกี่ยวกับผีหรือจะเรียกว่านับถือศาสนาผีก็ว่าได้ และศาสนาผีเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในแถบเอเชียใต้ สุดแหลมมาลยู และกินพื้นที่ไปยังอินโดนีเซีย และฟิลลิปินส์ อิทธิพลความเชื่อนี้ได้ถูกใช้ผีเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบทางสังคม ประหนึ่งว่าผีในแต่ละประเภท เป็นเสมือนกฏหมายในแต่ละหมวด เพื่อกำหนดให้สังคมได้ปฏิบัติตาม หากมีการกระทำผิดหรือละเมิดต่อผี จะมีบทบัญญัติในการลงโทษ ซึ่งการแสดงออกถึงความเคารพและสื่อสารถึงผี จะผ่านตัวกลางในการสื่อสารที่เรียกว่า “กระจ้ำ” “หมอเย้า” “พ่อหมอ” หรืออื่นๆ ตามที่สังคมให้การยอมรับ การสื่อสารจะผ่านภาษาคนที่เป็นงานประพันธ์คำร้องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ผ่านเครื่องสื่อสารที่เป็นเครื่องดนตรีคือ “แคน” เพื่อส่งการสื่อสารผ่านท่อไม้ไผ่ของเลาแคนพุ่งขึ้นบนท้องฟ้า เพื่อให้ถึงพระยาแถนหรือพระอินทร์นั่นเอง ผู้คนต่างๆ จะสื่อสารถึงพระยาแถนก็จะสื่อออกมาด้วยการ่ายรำบ้าง ตีกลองบ้าง หรือเป่าสะไน บ้าง แต่ก็ต้องมีแคนเป็นเป็นสื่อหลักในการส่งสารถึงเจ้าแห่งขุนเขา หรือพระอินทร์ในนามเจ้าพ่อเขาเขียวนั่นเอง
ประเพณี ศิลปะวัฒนธรรมของชนเผ่าบรู ยังคงมีการสืบทอดกันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้ ที่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุดาหาร แต่วิถีแห่งการแต่งกายของชนเผ่าบรูที่ดงหลวงได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่ศิลปะวัฒนธรรมชนเผ่าบรูในแขวงอัตตะปือ สปป.ลาว “งานสะลาจาละปืบ” ยังคงรักษาวัฒนธรรมการแสดงความเคารพต่อเจ้าแห่งขุนเขาหรือพระอินทร์ ซึ่งผู้เข้าร่วมขบวนงานจะต้องแต่งกายย้อนยุคเป็นชนเผ่าบรูดึกดำบรรพ์ ผิดแต่ผู้หญิงก็จะหลีกเลี่ยงในการเข้าร่วมเพราะการแต่กายของผู้หญิงสมัยเดิมนั้นต้องเปลือยหน้าอก ส่วนการแต่งกายของผู้ชายนั้นจะแต่งกายแบบดั้งเดิม ที่เขียนลวดลายตามตัวเป็นลายขดก้นหอยและลายขดยอดเถาวัลย์ และมีสังวาลย์คล้องคอไพล่หลังเฉียงตดกันเป็นกากบาท อีกทั้งยังเขียนหนวดเพื่อเพิ่มความน่าเกรงขามแก่ผู้พบเห็น
รูปแบบของการแต่งกายของชนเผ่าบรูในพิธีสะลาจาละปืบ มีลักษณะคล้ายกับเทวดาในศิลปะลายเส้นของไทยมาก และสิ่งหนึ่งที่นึกถึงในเวลานี้ คือศิลปะผนังโบสถ์ ศิลปะลายพระธาตุ หรือศิลปะอื่นๆ ที่เขียนเป็นรูปเทวดาของไทย จะเป็นภาพเทวดาผู้ชายและผู้หญิงเปลือยน้าอก ที่มีสังวาลย์คล้องคอ นั่นหมายถึงศิลปะไทยกำเนิดขึ้นมานานมาก อาจจะมีมานานมากกว่ายุคพุทธกาลก็เป็นได้ เพราะตำนานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในดินแดนประเทศไทย ที่เล่าถึงเรื่องที่เกี่ยวกับปราสาทต่างๆ ไม่ว่าประสาทภูเพ็ก ที่สกลนคร พระธาตุพนม จังวัดนครพนม ปราสาทปรางค์กู่ที่อำเภธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามกองทัพผู้หญิงเปลือยอกทั้งนั้น
สิ่งที่สำคัญศิลปะเทวาดาไทย ที่สืบทอดต่อๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าศิลปะผนังโบสถ์ ศิลปะลายพระธาตุ ศิลปะปราสาทผึ้ง ศิลปะลายผ้า รวมทั้งศิลปะในยุคปัจุบัน ก็ยังคงร่องลอยแห่งการแต่งกายของชนเผ่าบรู ที่สื่อถึงเจ้าแห่งขุนเขา ที่เป็นเทวดาสวมสังวาลย์ และเทวดาผู้หญิงเปลือยอกอยู่ ซึ่งสามารถที่จะประเมินได้ว่า การสืบทอดศิลปะเทวดาไทย ได้รับการสืบกันมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำศิลปะเทวดาไทยไปใช้ในการถ่ายถอดพระพุทธศาสนา ซึ่งก็ยังสามารถเชื่อมโยงกับความคิดที่เคยเสนอไว้ในเรื่อง “วันวิสาขบูชา เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าพระพุทธเจ้ากำเนิดที่ได” ซึ่งในบทเขียนนั้นได้สรุปว่าพระพุทธเจ้ากำเนิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ก็ สปป.ลาว ตามหลักฐานทางดาราศาสตร์ จึงเชื่อมโยงได้ว่าพระพุทธเจ้ากำเนิดมาจากครอบครัวที่นับถือผี จากหลักฐานของพุทธประวัติที่ระบุถึงพระเจ้าสุโทธนะเคยได้เสด็จไปทำพิธี “แรกนาขวัญ” คำว่านาขวัญ เป็นคำที่สื่อถือความเชื่อในศาสนาผี เพราะศาสนาผีจะมีความเชื่อในเรื่อง “มิ่ง” ซึ่งหมายถึงกาย “ขวัญ” หมายถึงจิตวิญญาณ ขดก้นหอยกลางกระหม่อมจึงเรียกว่า “จอมขวัญ” คือจุดแห่งสำนึกคิด ศิลปะลายขดก้นหอยจึงหมายถึงจิตวิญญาณสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ในความเชื่อของผี ในขณะเดียวกันพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ มาจากเมืองเทวะทหะ หรือเมืองเทพธรรมดา นั่นหมายถึงเมืองที่เป็นชานเมืองหลวงหรือนครหลวง หรือองค์โค หรืออังกอร์ ตามภาษาขอม ซึ่งก็อาจจะประเมินได้ว่า พระนางพิมพาโสธรา มาจากเมืองรองไม่ใช่นครธม เช่นสมโบไพรกุก หรือเมืองโคกสูงป่าที่สมบูรณ์เดาเอาว่าเป็นจังหวัดศรีสะเกษ หรือเมืองอื่นๆ เช่นพนมรุ้ง วัดภู ใน สปป.ลาว เป็นต้น การสืบทอดศิลปะเทวดา จึงได้รับการสืบทอดโดยพุทธศาสนาสถาน ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเชื้อสายแห่งครอบครัวที่นับถือศาสนาผีมาก่อน เป็นผู้นำเอามาเผยแผ่หรือผู้ที่นับถือในพระพุทธศาสนาได้แสดงออกถึงเรื่องราวในพระพุทธศาสนาและมีวิวัฒนาการมาจนถึงทุกวันนี้
ต้องขอภัยกับศิลปินทุกๆ ท่านที่อาจจะมีความขัดแย้งต่อสมมติฐานที่ผู้เขียนได้หยิบยกเรื่องราวต่างๆ มาเชื่อมโยง ตามเหตุผลเชิงประจักษ์เท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่มีการพิสูจน์ใดๆ เกิดขึ้นว่า สมมติฐานที่นำเสนอมาในบทเขียนนี้ เป็นเพียงการฉุกคิดจากการเห็น และการเชื่อมโยงจากประสบการณ์ในประเด็นอื่นๆ ที่ผ่านการอ่าน ฟัง ดู เห็น ของผู้เขียนเอง จึงคิดและสร้างสมมติฐานนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นประเด็นให้ท่านผู้อ่านได้ต่อยอด หรือวิจารณ์แย้งในมุมของท่านผู้อ่าน เพื่อเปิดมุมมองให้เกิดความคิดและการเรียนรู้ที่กว้างออกไป เผื่อองค์ความรู้ที่หลากหลายจากมุมมองของท่านได้ร่วมกันตกผลึก และเกิดองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ ก็จะทำให้เกิดคุณูปการทางการศึกษาที่เป็นจริงมากขึ้น ขอขอบพระทุกท่านที่ติดตามอ่านบทความที่ผมเสนอความคิดตลอดมา ขอบคุณครับ