Think In Truth
ย้อนรอย..! มหาภัยร้าย'สะกาย' ยักษ์หลับ กลางเมียนมา โดย : ฅนข่าว 2499

ในช่วงเวลาประมาณ 13.20 น.ของวันพุธที่ 28 มีนาคม 2568 ประเทศไทยต้องเผชิญเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี โดยมีขนาด 7.4 จากแผ่นดินไหวกลุ่มรอยเลื่อนสะกายที่ได้รับขนานนามว่าเป็นยักษ์หลับกลางเมียนมา บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ห่างจากชายแดนไทยประมาณ326 กิโลเมตร ความลึกเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น
ทั้งนี้รอยเลื่อนแห่งนี้ถือเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง และสร้างความเสียหายมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์โดยเมื่อปี พ.ศ. 2382 หรือ คศ. 1839 วันที่23 มีนาคม2382 เวลาประมาณเวลา 04:00 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหว คาดว่าขนาด 7.9 ถึง 8.3 จุดศูนย์กลาง อยู่ใกล้อังวะ ที่พิกัดประมาณ 21.9°N 96.0°E โดยครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต หลายร้อยคน และสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางให้กับเมืองต่างๆ รวมถึงอังวะซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น รวมถึงเมืองอมรปุระ และมัณฑะเลย์ เจดีย์หลายแห่งพังทลาย นอกจากนี้ แรงสั่นสะเทือนยังทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำอิรวดีไหลย้อนกลับ ความรู้สึกสั่นไหวจากแผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถรับรู้ได้ไกลถึงธากา , โกลกาตา และกรุงเทพมหานคร
ต่อมาเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2472-2474 หรือ ค.ศ. 1929-1931เรียกว่า “ชุดแผ่นดินไหว” โดยเกิดขึ้นหลายครั้ง
(01) เริ่มที่ สิงหาคม พ.ศ. 2472 ขนาดความรุนแรงไม่เกิน 7.0
(02) 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 เกิดที่ พะโค/หงสาวดี ขนาด 7.4 โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 550 ถึง 7,000 คน และสร้างความเสียหายอย่างมากในหงสาวดีและย่างกุ้ง เจดีย์ชเวมอดอว์ ได้รับความเสียหายแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงรัฐฉานและประเทศไทย และมีการเกิดสึนามิ แม้จะมีขนาดเล็ก บ่งชี้ถึงอันตรายที่หลากหลายจากเหตุการณ์เหล่านี้
(03)3 ธันวาคม พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กนำสองครั้ง รู้สึกได้ในพยินมานา และย่างกุ้ง จนเช้าวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 สร้างความเสียหายอย่างมากในเมืองพยู อาคารก่ออิฐหลายหลังพังทลาย ทางรถไฟเสียหาย และมีผู้เสียชีวิต 30-36 ราย แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ถึงกรุงเทพมหานคร
(04)18 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 ในภูมิภาคอิรวดี มีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ราย ไม่ทราบขนาดความรุนแรง
(05) 28 มกราคม พ.ศ. 2474 เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7.6 ใกล้ทะเลสาบอินดอว์จี โดยสั่นสะเทือนนานถึง 30 วินาที ทำให้เกิดดินถล่มขนาดใหญ่แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
(06) 12 กันยายน พ.ศ. 2489 เกิดแผ่นดินไหวสองครั้งต่อเนื่อง แผ่นดินไหวครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 15:17: น. ขนาด 7.3 และครั้งที่สองเกิดขึ้นในอีกสามนาทีต่อมา เวลา 15:20: น. ขนาด 7.7 ทำให้เกิดการการแตกของรอยเลื่อนเกิดขึ้นตามส่วนอินดอว์ และสะกาย
(07) 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7.1 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย และเจดีย์หลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
(08) 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 07:42 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขนาด 6.8 จุดศูนย์กลางอยู่ใกล้ชเวโบ ห่างจากมัณฑะเลย์ไปทางเหนือ 100 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิต 26 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก บ้านเรือน โรงเรียน และอาคารทางศาสนาหลายร้อยหลังได้รับความเสียหาย สะพานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างบางส่วนพังถล่มลงในแม่น้ำอิรวดี และเหมืองทองแห่งหนึ่งในซินต์กู ก็พังทลาย
(09) ล่าสุด 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 มีรายงานว่าขนาด 7.7 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สะพานอังวะ ในมัณฑะเลย์พังถล่ม อาคารหลายหลังในสะกายและมัณฑะเลย์พังทลาย พระราชวังมัณฑะเลย์ได้รับความเสียหาย ถนนในเนปยีดอว์ โก่งงอ และศาลเจ้าและบ้านเรือนได้รับความเสียหาย แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ไกลถึงกรุงเทพมหานคร รู้สึกได้ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย อินเดีย และจีน โดยรัฐบาลเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหกรัฐและเขต
ศูนย์กลางแผ่นดินไหว : ภาพจากบีบีซี (BBC)
ต่อมาเวลา 14.45 น. กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้มีขนาดแรง 8.2แรงสั่นสะเทือนแผ่ออกมาเป็นวงกว้าง รู้สึกได้ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง จนถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามรายงานจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งประเมินความเสียหาย ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศอยู่ในภาวะตื่นตัว เตรียมรับมือกับอาฟเตอร์ช็อกที่อาจตามมา
แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ชัดเจนในหลายจังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และ ลำปาง โดยประชาชนจำนวนมากวิ่งออกจากอาคารบ้านเรือนด้วยความตกใจ ในกรุงเทพฯ ผู้ที่อยู่ในอาคารสูงรายงานว่ารู้สึกถึงมึนงงและเวียนศีรษะจากการโยกเยกนานกว่า 20 วินาที บางสำนักงานสั่งอพยพพนักงานลงสู่พื้นราบเพื่อความปลอดภัย ด้านกรมอุตุนิยมวิทยายังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตือนให้ระวังแรงสั่นสะเทือนรอบ 2 ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมงนี้
ถึงแม้ว่าจุดศูนย์กลางจะอยู่นอกประเทศไทย แต่รอยเลื่อนในภาคเหนือของไทย เช่น รอยเลื่อนแม่จันและรอยเลื่อนผาคา อาจถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์นี้ได้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าแผ่นดินไหวระดับตื้นเช่นนี้มักส่งผลให้การสั่นสะเทือนแผ่ไกล แม้จะยังไม่มีรายงานความเสียหายรุนแรงหรือผู้บาดเจ็บอย่างเป็นทางการ แต่หน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดเสี่ยงได้เริ่มตั้งศูนย์ประสานงานฉุกเฉินแล้ว
กรมทรัพยากรธรณี สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหว รอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) ว่าได้เกิดแผ่นดินไหวบนบกขนาด 8.2 มาตราริกเตอร์ (ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา) หรือขนาด 7.7 มาตราโมเมนต์ (ตามรายงานของ USGS) จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ เมืองมันดาเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,100 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร
แผ่นดินไหวตาม หรือ อาฟเตอร์ช็อก หลังแผ่นดินไหว ได้เกิดแผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง โดยมีขนาดตั้งแต่ 2.4 – 7.1 (ข้อมูล ณ เวลา 21.32 น.) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวขนาดใหญ่
แผ่นดินไหวครั้งนี้มีขนาดรุนแรงมากรวมถึงเกิดจาก “รอยเลื่อนสะกาย” ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ที่สามารถส่งแรงสั่นสะเทือนไปได้ไกล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มี ชั้นดินอ่อน เช่น ที่ราบภาคกลางของไทย ทำให้คลื่นแผ่นดินไหวขยายตัวและรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ชัดเจน
นอกจากนี้ ความเร็วของคลื่นแผ่นดินไหวยังขึ้นอยู่กับ ตัวกลางที่คลื่นเคลื่อนที่ผ่าน โดยเมื่อคลื่นแผ่นดินไหววิ่งผ่าน หินแข็ง คลื่นจะมีความเร็วสูง แต่เมื่อผ่าน ชั้นดินเหนียวกรุงเทพฯ (Bangkok clay) ความเร็วของคลื่นจะลดลง ส่งผลให้ ความสูงคลื่น (amplitude) เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาพลังงานของคลื่นให้คงที่ จึงทำให้บริเวณกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่มีชั้นดินอ่อนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้รุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน สำหรับงานด้านแผ่นดินไหวและวิศวกรรมแผ่นดินไหว
ปัจจุบันหน่วยงานที่มีระบบเครือข่ายตรวจความสั่นสะเทือนในระดับชาติและเป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล
แผนที่โลกแสดงจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวระหว่างปี พ.ศ. 2506–2541 ทั้งสิ้น 358,214 จุด
การเตรียมการล่วงหน้าเพื่องานป้องกันภัยแผ่นดินไหว เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมพร้อมก่อนล่วงหน้าเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์ จำเป็นต้องมีการวางแผน ทั้งทางด้านนโยบาย ด้านปฏิบัติการ ด้านวิชาการ วิเคราะห์วิจัย และด้านมวลชนเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดภัย เว็บไซต์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะบรรลุถึง วัตถุประสงค์ และภารกิจ ข้างต้น แม้ว่าจากสถิติในอดีตประเทศไทยจัดว่าอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ ของโลก แต่มิได้หมายความว่า ประเทศไทยปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหว.