In News
ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคในมี.ค.ปี68 เชื่อมั่นผู้บริโภคลดแต่'อีสาน-ใต้'ยังแกร่ง

กรุงเทพฯ-“เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม 2568 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค” โดยมีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 16.5 และ 5.9 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -16.6 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 68.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 71.3 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 และ 8.2 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 10.7 และ 2.6 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -3.6 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -4.3 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -23.0 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 73.4 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานโรงงานห้องเย็นในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.5 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 1.2 และ 1.4 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -18.6 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -27.8 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -40.1 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 892.5 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานการผสม และแบ่งบรรจุปุ๋ยเคมี ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 100.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.3 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 และ 2.2 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภค รายได้เกษตรกร และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 11.9 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -5.5 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -17.9 และ -8.6 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตยาหม่อง ยาเหลือง ยาเขียวในจังหวัดนครปฐม เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 100.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.3 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนหดตัวที่ร้อยละ -3.5 และ -4.6 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวหดตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.8 0.1 และ 5.2 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -13.2 และ -9.9 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 84.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.7 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนหดตัวที่ร้อยละ -1.3 และ -0.5 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากรายเกษตรกร และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 และ 21.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -14.5 และ -13.8 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -13.6 และ -25.4 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้ง เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.4 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 และ 2.7 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนมีนาคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนหดตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -21.4-16.8 -2.2 และ -5.4 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -17.1 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -19.7 ต่อปี และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งสำรวจจากสำนักงานคลังจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพบว่า ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมีนาคม 2568 ปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าทุกภูมิภาค โดยความเชื่อมั่นในภาพรวมชะลอลงทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ในขณะที่กำลังซื้อสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชนปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ดี ดัชนียังมีแรงหนุนจากรายได้ในภาคบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวชะลอลงในหลายภูมิภาค โดยภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสภาพอากาศที่แปรปรวน ต้นทุนการผลิตสูง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และภาวการณ์ลงทุนที่ยังชะลอตัวในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ดี ภาคบริการ และการจ้างงานยังมีสัญญาณฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ