Digitel Tech & AI
เอ็ตด้าชวนค้นหาสมดุลชีวิตดิจิทัลภายใต้ โจทย์ที่3เวทีEDC Pitching Season3

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การรักษาสมดุลระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้กลายเป็นความท้าทายสำคัญของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ประชากรมีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเวที EDC Pitching Season 3 ภายใต้ธีม "Digital Space Connect” ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร EDC Trainer รวมทีม เพื่อพัฒนาแคมเปญ สื่อ หรือกิจกรรม โดยโจทย์ที่ 3 คือ Healthy Digital Life Balance พักจอมาฮีลใจ ใช้แต่พอดี มีสมดุลชีวิต
ต่อไปนี้ ETDA จะพาไปเจาะลึกแนวคิดของโจทย์ที่ 3 Healthy Digital Life Balance ทั้งบริบทของปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตดิจิทัลที่มากเกินไป ความสมดุลระหว่างชีวิตออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงยกตัวอย่างแนวคิดและกิจกรรมต้นแบบ ที่ผู้สนใจเข้าร่วมสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นผลงานจริงสำหรับการแข่งขันได้
เพราะสมดุลชีวิตดิจิทัลที่ดี... เริ่มต้นจากการรู้เท่าทันตัวเอง
จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ไตรมาส 4/2567 (ตุลาคม - ธันวาคม) พบว่าประชากรไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ถึง 90.9% ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (89.7%) และช่วงเดียวกันของปีก่อน (89.5%) แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในสังคมไทยที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือรายงาน Thailand Digital Outlook ประจำปี 2567 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ระบุว่า คนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึง 9 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 7 ชั่วโมง 25 นาทีในปีก่อนหน้า ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาตื่นนอนอยู่กับโลกออนไลน์
นอกจากนี้ รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป เรื่อง "Teens, screens and mental health" ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2024 พบว่า อัตราการใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นปัญหาในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 7% ในปี 2018 เป็น 11% ในปี 2022 ซึ่งเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และผลการเรียนที่ไม่ดี
"ความเสี่ยงเงียบ" จากการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลตลอดเวลา
ภัยจากการใช้ชีวิตออนไลน์มากเกินไปส่งผลกระทบในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบต่อสุขภาพกาย เช่น ตาล้า แสบตา ตาแห้ง จากการจ้องหน้าจอนานเกินไป, ปัญหาการนอนหลับ จากการได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอก่อนนอน หรือ อาการปวดศีรษะ ปวดคอ บ่า ไหล่ จากการอยู่ในท่าเดียวนานเกินไป ผลกระทบต่อสุขภาพจิต เช่น ความเครียด วิตกกังวล จากการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นบนโซเชียลมีเดีย, ภาวะซึมเศร้าจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป, ความรู้สึกโดดเดี่ยว แม้จะอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อกันตลอดเวลา ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ เช่น การลดลงของปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวในครอบครัว, ความห่างเหินในกลุ่มเพื่อนและสังคม หรือ พัฒนาการทางสังคมที่ล่าช้าในเด็กและเยาวชน
สร้างสมดุลชีวิตดิจิทัล นำไปสู่สุขภาวะที่ดีกว่า
จากบริบทและปัญหาข้างต้น การคิดโจทย์ Healthy Digital Life Balance จึงมุ่งพัฒนา 2 ทักษะสำคัญ ได้แก่
1. การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม (Digital Use) ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม สร้างสมดุลชีวิตในยุคดิจิทัล
2. การสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) พัฒนาทักษะการสื่อสารออนไลน์ สร้างโอกาสด้วย Future Skills
โดยเปิดโอกาสให้ทีมจากหลักสูตร EDC Trainer ร่วมออกแบบสื่อและกิจกรรม ที่สามารถใช้ได้จริงในชุมชน และต่อยอดการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ตัวอย่างโครงการสร้างแรงบันดาลใจ
เพื่อจุดประกายไอเดียให้กับผู้ที่สนใจร่วมแข่งขัน ETDA ขอนำเสนอกรณีศึกษาจากโครงการจริงที่ประสบความสำเร็จหรือน่าสนใจในระดับโลก
- Global Day of Unplugging เริ่มต้นในปี 2009 โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Reboot รณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลก "ถอดปลั๊ก" จากอุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเวลา 24 ชั่วโมง (ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกวันศุกร์แรกของเดือนมีนาคม ถึงพระอาทิตย์ตกวันเสาร์) โดยมีกิจกรรมออฟไลน์ที่หลากหลาย เช่น การใช้เวลากับครอบครัว การเล่นเกมกระดาน การทำงานศิลปะ และกิจกรรมในชุมชน กิจกรรมนี้มีการรวบรวมไอเดียกิจกรรมกว่า 200 อย่างบนเว็บไซต์ และมีแผนที่รวบรวมกิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วโลก
- Screen Time Action Network เป็นเครือข่ายความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงาน นักการศึกษา นักรณรงค์ และผู้ปกครอง ภายใต้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Fairplay มุ่งส่งเสริมสุขภาพที่ดีในวัยเด็กโดยลดเวลาที่เด็กใช้กับอุปกรณ์ดิจิทัล จัดทำชุดเครื่องมือ "Screen Aware Early Childhood Action Kit" ฟรีสำหรับครอบครัวและผู้ปฏิบัติงานด้านปฐมวัย รวมถึงเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม Screen-Free Week (สัปดาห์ปลอดจอ) ที่จัดขึ้นทั่วโลก
ตัวอย่างกิจกรรมต่อยอดเพื่อจุดประกายไอเดียเพิ่มเติม
นอกจากแรงบันดาลใจจากโครงการระดับโลกและระดับชุมชนที่สำเร็จมาแล้ว ยังมีแนวคิดกิจกรรมอีกมากมายที่สามารถหยิบไปต่อยอดได้จริง โดยเฉพาะในระดับชุมชนหรือกลุ่มเล็ก ๆ เช่น
- กิจกรรมสร้างสรรค์ในครอบครัว ส่งเสริมการประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ การทำอาหารง่าย ๆ ร่วมกัน การเล่นเกมโต้ตอบ แทนการใช้เวลากับหน้าจอ
- การส่งเสริมงานอดิเรกและการเรียนรู้ จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ทำสวน อ่านหนังสือ ทำงานศิลปะ เป็นอาสาสมัคร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ค้นพบความหลงใหลนอกเหนือจากโลกดิจิทัล
- การจัดตั้งกลุ่มพูดคุย/สนับสนุน สร้างพื้นที่ให้คนในชุมชนหรือกลุ่มเพื่อนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความท้าทายในการรักษาสมดุลชีวิตดิจิทัล เป็นกำลังใจให้กันและกันในการสร้างนิสัยดิจิทัลที่ดีต่อสุขภาพ
มาร่วมออกแบบแคมเปญส่งเสริมการใช้ชีวิตดิจิทัลอย่างสมดุล ภายใต้โจทย์ที่ 3 Healthy Digital Life Balance ซึ่งเป็นโจทย์สุดท้ายที่ ETDA แนะนำให้ผู้สนใจรู้จัก แต่ละไอเดียที่นำเสนอ สามารถตอบได้ทุกโจทย์ สองโจทย์ หรือจะเป็นโจทย์เดียวก็ได้ เปิดรับทั้ง รุ่นมัธยมศึกษา–อุดมศึกษา (อายุ 15–24 ปี) และ รุ่นวัยทำงาน–บุคคลทั่วไป (อายุ 25 ปีขึ้นไป) ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 200,000 บาท พร้อมโอกาสต่อยอดไอเดียจริงในชุมชน สมัครได้ถึง 16 มิถุนายน 2568 ที่ https://bit.ly/4hV6Mmx
สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่านหลักสูตร EDC Plus ได้แล้ววันนี้ ในรูปแบบ e-Learning ได้ที่ https://www.etda.or.th/th/edcplus และติดตามรายละเอียดโครงการ EDC เพิ่มเติมได้ที่ https://www.etda.or.th/th/Our-Service/DigitalWorkforce/edc.aspx หรือ Facebook: ETDA Thailand