In News

ภารกิจนายกฯเยือนญี่ปุ่นหารือ5บริษัทบิ๊ก พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อฯในประเด็นร้อน



นายกฯ ตอบคำถามการเมือง เตรียมตัวชี้แจงภายใน 15 วัน ย้ำเป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง ต้องตรวจสอบได้ "วัคซีนที่ดีที่สุดคือการทำงาน"และยังให้สัมภาษณ์ผลสำเร็จการหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท เชื่อมั่นศักยภาพประเทศไทย ขอบคุณการสนับสนุนของรัฐบาล และมีแผนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม พร้อมผลักดันการแก้ปัญหาภาคใต้ร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก่อนหน้านี้นายกฯ หารือบริษัท Nidec Corporation ย้ำโอกาสและแนวโน้มตลาดที่สดใส ในการขยายการลงทุนผลิตสินค้าที่ใช้ในเทคโนโลยีขั้นสูง และชิ้นส่วนสำหรับ EV ในไทยเน้นสร้างคน สร้างอาชีพ ขยายระยะเวลาโครงการฝึกงานและพิจารณารับนักศึกษาฝึกงานเข้าสู่การจ้างงานเมื่อเรียนจบและหารือสถาบันการเงิน MUFG & Softbank ย้ำจุดยืนความเป็นกลางของไทย ดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นที่พิจารณากระจายกิจการจากความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้หารือบริษัท Sony ย้ำความเชื่อมั่นและแนวโน้มการขยายการลงทุนในไทย เพื่อรองรับการเติบโตของ AI Technology และ EV

วันนี้ (23 พฤษภาคม 2567) เวลา 16.31 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยภายหลังเสร็จภารกิจในวันนี้ นายกรัฐมนตรีจะโทรศัพท์พูดคุยกับทีมกฎหมาย เพื่อดูว่า จะชี้แจงอย่างไร พร้อมย้ำว่าเป็นธรรมดาของการเข้าสู่การเมือง ต้องให้มีการตรวจสอบได้ หากทางฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการมีความข้องใจ ถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะต้องไปชี้แจง เป็นธรรมดาของระบอบประชาธิปไตยที่มีการต้องรับฟัง โดยนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าชี้แจงได้ และไม่มีผลกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศทั้งในขณะนี้ และในระยะยาว เชื่อว่าไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีภารกิจอยู่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องรับทราบ และให้ความกระจ่างต่อสาธารณชน ส่วนเรื่องมีการเล่มเกมการต่อรองอยู่ข้างหลัง นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไม่ต้องการมองลึกเกินไป เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายมีความปรารถนาดีกับประเทศชาติ และอยากให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใสและชอบธรรม

สำหรับกรณีที่บางฝ่ายมองว่า รัฐบาลยังทำไม่ถูกใจ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการเข้าสู่การเมือง จะทำทุกอย่างให้ถูกใจทุกคนเป็นไปได้ลำบาก แต่ขอให้มั่นใจในรัฐบาลนี้ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เรายึดมั่นกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และมีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเรื่องการตรวจสอบเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะเข้าไปตอบ และให้เกียรติรัฐสภามาโดยตลอด ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่เมื่อเข้าสู่การเมืองแล้ว ต้องมีทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระที่เข้ามากำกับตรวจสอบ ดูแลเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความชอบธรรม

ที่ผ่านมาประมาณ 8-9 เดือน นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าเห็นถึงความเดือดร้อนกันอยู่แล้ว ในทุก ๆ วันมีความหมาย ทุกคนมีความเดือดร้อนอยู่แล้ว ในเรื่องโครงการทั้งหลาย หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าทุกเรื่อง เป็นหน้าที่ที่นายกรัฐมนตรีต้องทำอยู่แล้ว ปัญหาที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัว หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ต้องเป็นผู้ใหญ่พอ ต้องแบ่งแยกให้ถูก ในการแก้ไขปัญหาซึ่งก็มีทีมแก้ไขปัญหา และเข้าไปชี้แจง และวันพรุ่งนี้ก็มีภารกิจ และเสาร์อาทิตย์นี้เมื่อกลับไปก็มีภารกิจจัดเต็ม เพราะฉะนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีความคิด ไม่ได้ต้องการกำลังใจพิเศษจากใครใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมย้ำว่า  “วัคซีนที่ดีที่สุดคือการทำงาน“

นายกฯ ให้สัมภาษณ์ผลสำเร็จการหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท 

 เวลา 16.22 น.ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจในวันนี้ โดยได้หารือกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น 5 ราย ดังนี้

1) บริษัท Mitsui & Co., Ltd. ซึ่งเคยพบกันเมื่อตอนนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN – Japan Commemorative Summit) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 โดยบริษัทมีความคืบหน้าจากที่ได้คุยกันคราวก่อน เรื่องเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuel: SAF) ซึ่งมีความคืบหน้า โดยมีการลงนาม MOU แล้ว และคาดว่าจะมีการตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทย โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ที่จะให้รัฐบาลทำกับเอกชน ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อน นอกจากนี้ SAF ทำมาจากซากพืชที่เหลือจากไทย โดยเฉพาะอ้อย เป็นประโยชน์มากเพราะจะช่วยลด PM 2.5 ได้อย่างดี รวมถึงมีการสอบถามเรื่องการเจาะหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับ OCA ว่า สัปดาห์หน้าจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ นอกจากนี้ บริษัทมีโรงงานทำบรรจุภัณฑ์ที่มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้มาสร้างโรงงานและทำการตลาดที่ไทย ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ทั้งนี้ บริษัท Mitsui มีหลายบริษัทและมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากว่า Mitsui เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่น เรามีความสัมพันธ์กันมานานมาก ขอให้มั่นใจว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว และไม่มีเวลาไหนที่จะดีกว่าเวลานี้ที่จะมาลงทุนในไทย 

2) บริษัท Ajinomoto Co., Inc. ซึ่งอยู่ในไทยมานานมากแล้ว มีโรงงานใหญ่ที่ผลิตผงชูรส 3 โรงงาน และจะมีการขยายโครงการในอนาคตอีก 16 โครงการภายในปีหน้า มูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งจะขยายไปทำสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับ Amino acid ซึ่งจะส่งไปขายในต่างประเทศได้ รวมถึงเรื่อง Health Care เรื่อง Green Economy และทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ยำ ยำ ตลอดจนสนับสนุนเกษตรกรที่ทำมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำสินค้าของบริษัท โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้บริษัทสนับสนุนพืชผลอื่น ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย

3) บริษัท Sony Group Corporation เป็นบริษัทชั้นนำด้านเกม ดนตรี ภาพยนตร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเลนส์กล้อง ซึ่งปัจจุบันทำเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ในไทย และอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลาง high-tech product ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงงานอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีเชิญให้บริษัทเข้ามาตั้ง Regional Office ในไทยเพราะธุรกิจเขาเยอะ โดยโรงงานที่ตั้งไม่ใช่ขายแค่ในประเทศอย่างเดียว แต่มีการส่งออกไปขายทั่วโลก ทำให้เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของ FTA ซึ่งไทยจะมีการลงนามเร็ว ๆ นี้ กับอีกหลายประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการทำ FTA กับ EU รัฐบาลพยายามเร่งให้มีการลงนามภายในสิ้นปีหน้า (2568) นอกจากนี้ เกี่ยวกับ E-sport นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้บริษัทมาจัด Tournament ที่ไทย สอดคล้องกับที่ไทยพยายามส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว Festival โดยบริษัทรับไปพิจารณา

4) บริษัท MUFG & Softbank ซึ่งมีเครือข่ายที่ดีในไทย โดยหุ้นกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา และเข้าไปลงทุนในหลายบริษัทที่จีน และอยากตั้ง Supply chain ย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เพราะไทยมี BOI ที่แข็งแกร่ง และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และอีกปัจจัยสำคัญคือความเป็นกลางทางด้านการเมืองของไทย ทำให้ Sony อยากย้ายฐานการผลิตมา โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าพร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ Softbank ยังเป็นเจ้าของ LINE Application และมีประเด็นน่าสนใจที่เข้าไปลงทุนในบริษัทเล็ก ๆ ทั่วโลก และหลาย ๆ บริษัทก็ประสบความสำเร็จอย่างมากจึงอยากให้พิจารณาใช้ไทยเป็นฐานในการพัฒนา start-up ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน

5) บริษัท Nidec Corporation เป็นบริษัทที่ใช้ไทยในการเป็นฐานการผลิต ส่งออกอุตสาหกรรม high-tech โดยเฉพาะมอเตอร์ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า EV โดรน โรงงานอยู่เยอะมากในไทย และจะมีการลงทุนในปีนี้อีกประมาน 1,700 ล้านบาท อย่างไรก็ดีบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูง และต้องการเพิ่มระยะเวลาการฝึกงานที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย ให้มีความรู้ในเชิงลึกมากขึ้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีขอให้บริษัทให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาปริญญาโทไปศึกษาที่ญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในอนาคต 

ทั้งนี้ ในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 ประธานผู้แทนการค้าไทย และเลขาธิการ BOI จะนำทีมมาที่เมืองโอซาก้าและกรุงโตเกียวเพื่อมาสานต่อภารกิจที่ได้พูดคุยไป

สำหรับในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะมีการหารือกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยจะมีการพูดคุยเรื่องการลงทุนที่ค้างกันไว้ การช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวของมาเลเซีย อาหารฮาลาล และปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ บอกไว้ก่อนหน้าว่าอาจจะลงพื้นที่ไปยังภาคใต้ และจะสอบถามความสะดวกทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะการที่ผู้นำทั้งสองประเทศลงไป จะทำให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น และปัญหาต่าง ๆ อาจคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จากนั้น จะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งนายคิชิดะ ฟูโอมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

นายกฯ หารือบริษัท Nidec Corporation ย้ำโอกาสและแนวโน้มตลาดที่สดใส 

เวลา 15.50 น.ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายกรัฐมนตรี พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Nidec Corporationบริษัท Nidec Corporation เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนา การผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือน มีความเชี่ยวชาญทางด้านผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นการใช้งานเกี่ยวกับมอเตอร์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนามอเตอร์มา 50 ปี และมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่มีความแม่นยำขนาดเล็กไปจนถึงผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่พิเศษ มีบริษัทในเครือ 300 แห่ง มีการดำเนินธุรกิจในอาเซียน ทั้งในไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และสิงคโปร์ (ฝ่ายขาย)

บริษัทฯ ได้รายงานการดำเนินกิจการในประเทศไทย ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจในไทยมายาวนานกว่า 35 ปี รวมถึงมีแผนการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต โดยจะเน้นการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้งาน AI Technology รวมถึงการเติบโตของเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น 

โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลสนับสนุนการขยายการลงทุนผลิตสินค้าที่ใช้ในเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยให้เป็นสินค้า high-tech ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น ขอให้บริษัทพิจารณาขยายการลงทุนชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ชิ้นส่วนสำหรับ EV ในไทย ซึ่งแนวโน้มตลาดในประเทศยังคงสดใสและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่มีการสนับสนุนอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน EV ในไทย

โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีหารือถึงแผนการด้านการพัฒนาบุคลากรของบริษัทฯ โดยบริษัทแจ้งว่าให้ความสำคัญในการจ้างงานคนไทย หัวหน้าโรงงาน และผู้บริหารที่ทำงานในโรงงานที่เมืองไทยจำนวนมากเป็นคนไทย อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทยที่ประสงค์มีความร่วมมือด้านโครงการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน (Internship)

บริษัทได้หารือกรณีการรับนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งอนุญาตให้ใน ช่วงเวลา 3 เดือนเท่านั้น จึงหารือนายกรัฐมนตรีถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้มีการปรับกฎเกณฑ์เพื่อขยายกรอบเวลาการฝึกงานออกไปเป็น 9 - 12 เดือน เพื่อให้นักศึกษามีเวลามากพอที่จะเรียนรู้ในเชิงลึก ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเสนอให้บริษัทฯ พิจารณาในเรื่องการรับนักศึกษาฝึกงานบรรจุเข้าสู่การจ้างงานอีกด้วย จะได้เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ไปในตัว

​นายกฯ หารือสถาบันการเงิน MUFG & Softbank ย้ำจุดยืนความเป็นกลางของไทย 

 เวลา 15.25 น.  ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา พบหารือกับผู้บริหารบริษัท MUFG & Softbank MUFG Bank, Ltd. เป็นธนาคารชั้นนำและใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีสินค้าและบริการทางการเงินที่ครอบคลุมทั้งในด้านธุรกิจและการลงทุนให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ภาครัฐ และลูกค้ารายย่อยทั่วโลก มีสาขาในประเทศ 421 สาขา และสาขาต่างประเทศ 105 สาขา ครอบคลุม 40 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566 ได้รับการจัดอันดับจาก S&P rating ให้อยู่ในระดับ A

SoftBank Group Corp. เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมของญี่ปุ่น โดยมีการลงทุนในระดับโลก ทั้ง Mobile/Fixed-line communications, Social media, Cashless payment/Finance, Online media, E-commerce ในหลากหลายตลาดทั้งในและต่างประเทศ บริษัทและบริษัทในเครือมีการลงทุนทั่วโลกจำนวน 38 โครงการ ใน 10 ประเทศ 

บริษัท MUFG & Softbank พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผ่านการทำงานร่วมกับทีมนายกรัฐมนตรี และ BOI เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะมีการจัดสัมมนา Thailand-Japan Investment Forum เพื่ออัปเดตกลไกที่ภาครัฐได้มีการปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่น การจัดทำกลไกพลังงานสะอาด เป็นต้น รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และกิจการสำนักงานภูมิภาค นอกจากนี้ จะมีการจัด Roundtable Meeting และการตั้งบูธของ BOI เพื่อให้บริการคำปรึกษา โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดในวันที่ 20 - 21 มิถุนายน 2567 ณ โอซาก้าและโตเกียว คาดว่าจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานประมาณ 600 คน  

นายกรัฐมนตรีสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งธนาคาร MUFG ในไทย ซึ่งบริษัทได้ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนให้บริษัทเป็น Partner ซึ่งทำให้บริษัทเกิดการพัฒนา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำสถานะความเป็นกลางของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาศูนย์การผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก รวมทั้งไทยมี Free Visa รองรับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Start up และ SMEs

นายกฯ หารือบริษัท Sony ย้ำความเชื่อมั่นและแนวโน้มการขยายการลงทุนในไทย

เวลา 15.00 น. ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Sony Group Corporation บริษัท Sony Group Corporation เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก มีธุรกิจ 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. เกมและ Network Services 2. เพลง  3. วิดีโอและภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Spiderman 4. ความบันเทิง เทคโนโลยีและบริการ 5. โซลูชั่นด้านภาพและการตรวจจับ  และ 6. บริการทางการเงิน โดยบริษัทมีฐานการผลิตในต่างประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน และ สหราชอาณาจักร ทั้งนี้ สินค้าหลักที่ผลิตในไทย ได้แก่ กล้อง (ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออกทั่วโลก ยกเว้นจีน) และ Backend semiconductors

บริษัทได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รายงานการดำเนินงานในประเทศไทย รวมถึง พูดคุยหารือเกี่ยวกับการเปิดโรงงานที่ 4 ภายใต้บริษัท Sony Device Technology (Thailand) ที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะทำการประกอบ Semiconductor Laser สำหรับ Hard Disk Drive ที่ใช้ใน Data Center รวมถึงการประกอบ Image Sensor สำหรับการใช้งานในยานยนต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว

บริษัทเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และมีแนวโน้มการขยายการลงทุนในอนาคต เนื่องจากบทบาทของ AI Technology ที่ทำให้ความต้องการใช้งาน Data Center เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณที่เลือกไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้า high-tech พร้อมหวังว่า บริษัทจะพิจารณาไทยเป็นลำดับต้น ๆ ในการขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการ AI Technology และการเติบโตของ EV อย่างต่อเนื่อง