In Bangkok

กทม.ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สร้าง สังคมนมแม่ให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรง



กรุงเทพฯ-(23 มี.ค. 66) นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ Emerging Breastfeeding Support in Bangkok ในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 : Step up breastfeeding Education Support and Sustain ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น เขตหลักสี่

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของกรุงเทพมหานครที่ให้บริการจากคลินิกสุขภาพเด็กดี ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ และศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัยในปี 2564 – 2565พบว่ามีจำนวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิด - 6 เดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งกทม. มีกระบวนการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (BreastFeeding) 3 ระยะ คือ ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด เชื่อมโยงข้อมูลมายังระบบปฐมภูมิ เพื่อให้มีการติดตามเยี่ยมหลังคลอด

การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของกรุงเทพมหานคร มีการเชื่อมประสานการดำเนินงานดูแลแม่และทารกตั้งแต่ในครรภ์จนถึงหลังคลอด ระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กับโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์โดยโปรแกรมส่งต่อเพื่อการดูแลมารดาและทารกหลังคลอด (MCH Refer) จัดบริการคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาล สำนักการแพทย์ คลินิกฝากครรภ์ (ANC) คลินิกสุขภาพเด็กดี (WBC) คลินิกนมแม่ ส่งเสริมความรู้และทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 69 แห่ง การติดตามเยี่ยมหลังจากออกจากโรงพยาบาลภายใน 7 วัน โดยทีมพยาบาลเยี่ยมบ้าน เช่นมารดามีภาวะคลอดที่ผิดปกติ มีประวัติการตั้งครรภ์เสี่ยง ทารกคลอดก่อน 37 สัปดาห์ มีภาวะตัวเหลือง พิการแต่กำเนิด ส่วนกลุ่มปกติ จะติดตามเยี่ยมภายใน 14 วัน สร้างห้องปั๊มนม-ให้นมในสถานที่ทำงานโดยนำร่องในสถานที่ของกรุงเทพนมหานคร ได้แก่ ศาลาว่าการ กทม.1 และ 2 จำนวน 2 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย จำนวน 50 แห่ง โรงพยาบาลสำนักการแพทย์ จำนวน 8 แห่ง คลินิกนมแม่ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จำนวน 1 แห่ง และกำหนดเป้าหมาย 30 สำนักงานเขต ภายในกันยายน 2566 เพื่อส่งเสริมให้มารดามีสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการปั๊มนมหรือให้นมลูก ให้เด็กมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแรงเนื่องจากมีโอกาสได้รับนมแม่มากขึ้น ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงดูลูกน้อยลง รวมทั้ง รักษาประสิทธิภาพการทำงานควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูบุตรและสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนที่มีลูกและเด็กอ่อน-เด็กเล็ก

นอกจากนี้ยังได้เปิดศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ ให้บริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปฐมวัยตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติที่ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 8 แห่ง โดยในศูนย์นี้จะส่งเสริมให้เด็กได้รับนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิด-6 เดือน และได้รับนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยถึง 1-2 ปี ควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและการบริหารจัดการนมแม่อย่างมีคุณภาพ การขยายการดูแลเด็กเล็กจากศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่จากโรงพยาบาลสู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีศูนย์เด็กเล็กที่ดำเนินการโดยชุมชนซึ่งสนับสนุนการดำเนินการโดยโรงพยาบาล ดำเนินการนำร่องใน Bangkok Health  Zone โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

โดยในช่วงท้ายรองปลัดฯ กทม. ขอความร่วมมือทุกภาคีทำงานร่วมกับกทม. เพื่อบรรลุเป้าหมายเพิ่มจำนวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิด - 6 เดือน ให้ถึง 50% ภายในปี 2568 

สำหรับการจัดประชุมวิชาการดังกล่าว มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำหนดจัดขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ รวมถึงการให้อาหารตามวัย ทั้งในด้านวิชาการ และปฏิบัติการที่ทันสมัย ตอบโจทย์ปัญหาที่พบในปัจจุบัน ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติจากโควิด 19 เพื่อช่วยให้คุณแม่และครอบครัวสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก โดยไม่มีการเสริมน้ำหรืออาหารอื่น และเพื่อสร้างสังคมนมแม่