In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เยี่ยมเขตบางกอกใหญ่ ดูแยกขยะ/จัดเก็บภาษี/คุ้มฝุ่นจิ๋ว/ดูสวน



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ตรวจแยกขยะเขตบางกอกใหญ่ ติดตามระบบจัดเก็บรายได้ BMA-TAX คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างย่านท่าพระ ส่องสวน 15 นาทีสวนกลิ่นพิกุล เล็งต่อขยายสวนบางกอกใหญ่ ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดราชสิทธาราม พัฒนาที่ว่างเป็นสวนน้ำตลิ่งชัน 

(23 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ประกอบด้วย 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ มีข้าราชการและบุคลากร 771 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล นำไปไว้ที่จุดพักขยะรีไซเคิลแต่ละชั้นในอาคารสำนักงานเขตฯ และอาคารฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 2.ขยะอินทรีย์ แยกใส่ถังรองรับขยะอินทรีย์ที่ตั้งวางไว้แต่ละชั้นในอาคารสำนักงานเขตฯ และอาคารฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 3.ขยะอันตราย นำขยะอันตรายไปทิ้งที่จุดพักขยะอันตรายบริเวณใต้สะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ 4.ขยะทั่วไป นำขยะกำพร้าไปไว้ที่จุดรับขยะกำพร้าบริเวณห้องเวรอัคคีภัย สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,019 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 931.5 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 523 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 456 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 408.5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 406.5 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 36 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 38 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อ 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน รวมปริมาณขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 1,060 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 971.5 กิโลกรัม/เดือน ลดลง 88.5 กิโลกรัม/เดือน 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบจัดการงานด้านภาษี การบันทึกข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 18,882 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 24,356 แห่ง ห้องชุด 8,615 ห้อง สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 51,853 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี ตลอดจนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและคำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

ตรวจติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการศุภาลัย แกรนด์ เอสเซ้นส์ เป็นโครงการบ้านแฝด 3 ชั้นครึ่ง และโฮมออฟฟิศ 4 ชั้นครึ่ง จำนวน 18 หลัง ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารที่กำลังก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกชั้นและปล่อยยาวลงมาถึงพื้นดิน ปรับปรุงแนวรั้วโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างลักษณะเป็นรั้วทึบความสูงจากพื้นดิน 6 เมตร ทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษดินเศษทรายหรือวัสดุจากการก่อสร้างตกค้าง ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพและเปิดเครื่องตลอดเวลาที่มีการก่อสร้าง โดยเน้นย้ำให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

สำรวจสวน 15 นาที (สวนใหม่) สวนกลิ่นพิกุล บริเวณที่ว่างใต้ทางเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่สถานีท่าพระ ผ่านสวนบางกอกใหญ่ ถึงศูนย์สร้างสุขทุกวัย (ตอม่อที่ BS 13-10) ขนาดพื้นที่รวม 1,600 ตารางเมตร (1 ไร่) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จากสถานีท่าพระถึงสวนบางกอกใหญ่ จัดทำสวนเดินวิ่งออกกำลังกาย ระยะทาง 600 เมตร ปรับปรุงเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปลูกต้นไม้ ส่วนที่ 2 จากสวนบางกอกใหญ่ถึงศูนย์สร้างสุขทุกวัย ทั้ง 2 ฝั่ง ระยะทาง 600 เมตร ปรับปรุงและปลูกต้นไม้ตามแนวพื้นที่ว่าง ได้แก่ ต้นทองอุไร ต้นพิกุล ต้นเฟื่องฟ้า ปัจจุบันการปรับปรุงคืบหน้า 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.นี้ ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ปลูกต้นทองอุไร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บริเวณสวนดังกล่าว 

พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้สอบถามความคืบหน้าการปรับปรุงสวน 15 นาที (สวนเดิมและส่วนต่อขยาย) สวนบางกอกใหญ่ พื้นที่ 2 ไร่ 57 วา ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการซ่อมแซมสะพานเดินข้าม ปรับเปลี่ยนเครื่องเล่นออกกำลังกายใหม่ ปรับปรุงศาลาแปดเหลี่ยม โดยเปลี่ยนไม้ส่วนที่ชำรุดและเปลี่ยนหลังคาที่เอียงและบิดตัว ปรับปรุงสะพานทางเดิน ซึ่งเดิมเป็นสะพานไม้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ปรับปรุงห้องน้ำชายหญิง เปลี่ยนสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ชำรุด ปรับปรุงเสาไฟที่ชำรุดและเปลี่ยนไฟทั้งหมดเป็น LED Solarcell และปรับปรุงเก้าอี้นั่งในสวน เปลี่ยนเก้าอี้ไม้ที่ผุเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ในส่วนของพื้นที่สวนบางกอกใหญ่ที่จะขยายเพิ่มเติม จะมีพื้นที่ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และส่วนที่ 2 เป็นที่ดินของเอกชน ซึ่งเจ้าของที่ดินมีการทำพินัยกรรมไว้ โดยเขตฯ ได้ติดต่อขอเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และประสานผู้ดูแลพินัยกรรมที่ดินของเอกชน เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะส่วนต่อขยายกับสวนบางกอกใหญ่ต่อไป 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดราชสิทธาราม พื้นที่ 2.2 ไร่ มีครูและนักเรียน 308 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ กิจกรรมส่งต่อขยะเศษอาหารเพื่อนำไปให้อาหารปลา 2.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมถังแยกขวด กิจกรรมส่งเสริมความรู้การคัดแยกขยะ กิจกรรม HOW TO ทิ้ง ทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี กิจกรรมกระดาษมือสอง กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากสิ่งของเหลือใช้ 3.ขยะทั่วไป กิจกรรมการใช้แก้วน้ำ/กระบอกน้ำแทนขวดพลาสติกหรือแก้วน้ำพลาสติก 4.ขยะอันตราย กิจกรรมส่งเสริมความรู้การทิ้งขยะอันตราย สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 3.38 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.6 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 8.29 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.3 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 16.18 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1.02 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.065 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อ 0.0025 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.0025 กิโลกรัม/วัน รวมปริมาณขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 28.8725 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.9675 กิโลกรัม/วัน ลดลง 27.905 กิโลกรัม/วัน 

จากนั้น เวลา 15.30 น. รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดทำสวน 15 นาที สวนน้ำตลิ่งชัน บริเวณริมถนนพรานนก-พุทธมณฑล ตัดถนนพุทธมณฑลสาย 1 เขตตลิ่งชัน พื้นที่ประมาณ 12 ไร่ ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเป็นสวน 15 นาที โดยจะจัดทำเป็นสวนชั่วคราว โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักการโยธาดำเนินการปรับพื้นดิน สำนักการระบายน้ำขุดลอกคูน้ำโดยรอบ สำนักสิ่งแวดล้อมประสานกลุ่ม We!Park ดำเนินการออกแบบ Conception design เพื่อให้เป็น pop-up park จัดสรรพื้นที่ให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจใกล้บ้าน 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ นางชดาวรรณ ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกใหญ่ เขตตลิ่งชัน สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล