Think In Truth
'การเมือง'เรื่องเน่าๆ เหยียดหยามทำลาย : โดย หมา เห่าการเมือง
คงจะด้วยกระแสของพรรคก้าวไกลที่ทางนิด้าได้ทำโพลพบว่า กระแสความนิยมของพรรคก้าวไกลนำโด่งอย่างที่พรรคอื่นๆ นั้นตามแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลย ด้วยความโปร่งใสในการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล ในการก้าวเข้าสู่สภา โดยที่ไม่มีการซื้อเสียงเลย และสามารถนำ สส. คนรุ่นใหม่เข้าสู่สภาได้มากที่สุด แต่ก็ถูกกลุ่มพรรคการเมืองอนุรักษณ์นิยมรวมหัวกันขัดขวางในการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งพรรคเพื่อไทยเองก็พยายามดิ้นรนในการที่จะช่วย ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้เกิดการผสมพันธุ์ระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็นั่นแหละอาจจะด้วยข้อแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถนำนโยบายที่ตนหาเสียงไว้ ได้นำมาใช้ในการบริหารบ้านเมืองได้ ส่งผลให้สังคมลดความน่าเชื่อถือลง และให้ความหวังจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล ที่นำเสนอข้อมูลในสภาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะไม่สามารถหยุดยั้งการบริหารประเทศภายใต้ข้อตกลงกับพรรคอนุรักษ์นิยมของพรรคเพื่อไทย ความชัดเจนในการในการเป็นฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกล รวมทั้งความชอบธรรมที่สังคมเทใจให้ ที่พรรคก้าวไกลถูกขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองในสารพัดวิธี ก็ยิ่งทำให้เกิดกระแสสังคมที่ให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล อย่างถล่มทลาย ตามนิด้าโพลได้สำรวจมาเป็นระยะ
กระบวนการดิสเครดิตพรรคก้าวไกลด้วยการใช้กระบวนการดำเนินการทางเมืองของพรรคก้าวไกลมาโจมตีนั้น หาช่องว่างได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะพรรคก้าวไกลเองก็มีความระมัดระวังในการแสดงพฤติกรรมทางการเมืองที่จะส่งผลต่อพรรคอย่างรัดกุม ไม่ว่าจะโจมตีด้วย สด.43 ก็ถูกสังคมเอา สด.43 ออกมาแสดงทั่วประเทศ ส่งผลให้สังคมมองเห็นช่องทางการฉ้อราชบังหลวงของกองทัพ ที่มีอยู่ทุกอำเภอของประเทศไทย กระบวนการเดียรฉานวิชาทางการเมืองจึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานของคนที่เรามักเรียกกันว่านักวิชาการ ได้ใช้ความน่าเชื่อถือทางสถานะ ที่มี ดร. นำหน้า ออกมาเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของนักการเมืองพรรคก้าวไกล ด้วยสถานะที่โยงถึงตระกูลที่เป็นถึงระดับเจ้าพระยา ที่เคยปกครองหัวเมืองตะวันออก จึงทำให้หลายคนสนใจประเด็นขึ้นมา เรื่องราวจึงถูกเปิดเผยจากกลุ่มที่พยายามดิสเครดิต และฝ่ายปกป้องนักการเมืองพรรคก้าวไกล
จากหนังสือพิมพ์มติชนออนไบน์วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาได้นำเสนอข่าวในเรื่องนี้ไว้ดังนี้ “วันนี้ (7 ก.พ.) เฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm ของนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความหัวข้อ "พิธาควรขอขมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และทายาทตระกูลอภัยวงศ์" ถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า "การอ้างว่าตึกจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลบูรพาเมื่อแรกสร้าง เคยเป็นที่พำนัก “บ้านคุณยาย” นั้น หมายถึงคุณยายของคุณพิธาต้องเป็นบุคคลสำคัญเกี่ยวข้องกับคนในตระกูลอภัยวงศ์เป็นอย่างดี และเป็นบรรพบุรุษของคนในตระกูลอภัยวงศ์สายใดสายหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าทายาทคนในตระกูลอภัยวงศ์ออกมาปฏิเสธว่าไม่รู้จักคุณพิธาและไม่เคยนับเป็นเครือญาติ และคนในตระกูลเขามีรหัสประจำตัวเมื่อแรกเกิด คำถามที่ตามมาก็คือ คุณพิธามีคุณยายเป็นบรรพบุรุษในตระกูลนี้ แล้วคุณแม่ที่ชื่อ ลิลฎา นามสกุล อภัยวงศ์ ด้วยหรือไม่ และรหัสประจำตัวคุณพิธามีหมายเลขอะไร”
ต่อประเด็นดังกล่าว นักวิชาการสายอนุรักษ์นิยมอีกท่านก็ออกมาขย่มต่อ ด้วยความกระหายที่อยากจะให้นายพิธาต้องรับผิดชอบต่อการการแอบอ้างของตน โดยโยงไปถึงความจงรักภักดีของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ไม่ยอมรับใช้เจ้านายคนใหม่(ฝรั่งเศส) ที่ได้รับความชอบธรรมจากการยอมลงพระปรมาภิธัย ให้ฝรั่งเศสมีอำนาจเหนือดินแดนสยามที่เมืองเสียมเรียบ ศรีโสภณ พะตะบอง และยอมสละอำนาจที่อยู่เหนือดินแดนดังกล่าวไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เจ้าพระยาอภัยภูเบศก์ จึงกลับกรุงเทพมหานคร เพื่อสนองรับใช้ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ แนะ พิธา ไปขอโทษตระกูล “อภัยวงศ์” ด้วยตัวเอง “อัษฎางค์” ชี้ พฤติกรรมสับสนเลื่อนลอยเหมือนคนที่ไม่ปกติ “ทายาทตระกูลอภัยวงศ์” เผย “แม่พิธา” โทรมาปรับความเข้าใจเชื่อลูกชายเข้าใจผิด
ซึ่งนายพิธา เองก็ได้ออกมาชี้แจงว่า “ผมเกิดมาไม่ทันคุณยายครับ ความผูกพันเดียว ความทรงจำเดียวที่มีคือ รูปคุณยายที่อยู่แถวๆหิ้งพระ แล้วก็การนอน ฟังคุณป้า คุณแม่ และ น้าๆ เล่าให้ฟังถึงคุณยายในอดีต พอมาตอนนี้ มีคนตั้งคำถาม ผมเลยถือโอกาสรู้จักคุณยายมากขึ้นในที่สุด ข้อเท็จจริงมีดังต่อไปนี้ครับ”
1.คุณยายอนุศรี เคยแต่งงานกับคุณเกษม อภัยวงศ์ มีบุตร ด้วยกัน 2 คน ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณป้าของผม ณ ปัจจุบัน
2.คุณยายเกิดที่พระนคร ผมไม่ได้มีเชื้อสายเขมร ไม่ได้เป็นลูกครึ่ง ตามที่สื่อบางสำนักตั้งคำถาม ขออย่านำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นกระทบกระทั่งระหว่างประเทศ
3.คุณยายเคยย้ายไปอยู่พระตะบองพักนึงจริง
4.ผมไม่เคยแอบอ้างว่าเป็นลูกหลาน อภัยวงศ์ แต่อย่างใด
5.ผมโพสต์รูปเมื่อปี 2558 ด้วยความระลึกถึงคุณยาย เมื่อตอนไปเที่ยวพระตะบอง และอ้างอิงตามค่าบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่และผู้นำชม ณ ขณะนั้น ไม่เคยคิดว่าจะถูกนำมาเป็นประเด็นการเมืองให้หลังเกือบ 10 ปีต่อมา
6.จริงๆ เรื่องส่วนตัวแต่คงต้องชี้แจงเพราะ มันกระทบวงกว้าง ไม่เฉพาะบุคคล ตระกูล แต่ข้ามไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน (มีคำว่า บ่าว ทาส) ในช่วงที่เวลาผู้นำเขามาเยือนพอดิบพอดีต้องขอบคุณ ครอบครัวผมที่ตอนนี้ กำลังค้นแฟ้มรวมรูปคุณยายกันอย่างขะมักเขม้น
ล่าสุด อาจารย์ตรีดาว อภัยวงศ์ ทายาทตระกูลอภัยวงศ์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Threedow Aphaiwongs ระบุว่า ขออนุญาตเรียนแจ้งข้อมูล กรณีที่เกี่ยวข้องกับ “บ้านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ที่พระตะบอง และโพสต์ของคุณพิธาที่เกี่ยวข้องกับ สกุล อภัยวงศ์ ว่า
“สืบเนื่องจากกรณีที่เป็นประเด็นและข้อสงสัย ว่าคุณยายของ คุณพิธา เป็นใคร เหตุใดจึงเคยอาศัยอยู่ในบ้านของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ทั้งๆที่บ้านหลังนั้น ตกเป็นของรัฐบาลกัมพูชาไปตั้งแต่ ปี 2450 แล้ว วันนี้ขออนุญาตสื่อสารข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ประเด็นส่วนตัวไม่กระทบกับคนส่วนมาก ดังนี้
คุณแม่ของคุณพิธา ท่านได้โทรศัพท์มาปรับความเข้าใจและพูดคุยกับผู้ใหญ่ในสกุล อภัยวงศ์ แล้วเมื่อวานนี้ ทางครอบครัวอภัยวงศ์เข้าใจได้ว่า การที่คุณพิธาฟังคำบอกของญาติที่เล่าต่อกันมา อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ คุณอนุศรี ซึ่งเป็นคุณยายของคุณพิธา เองก็เคยเป็น สะใภ้ ของสกุล อภัยวงศ์ ในช่วงหนึ่ง
เราขอเรียนว่าเราเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของคุณพิธา ที่ไปเยือนพระตะบองและจะระลึกถึงคุณยายและสถานที่ ที่เคยได้ทราบมาในสมัยยังเด็ก ซึ่งสถานที่นั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับสกุล อภัยวงศ์ ทางสายตระกูลเราขอขอบคุณที่ระลึกถึงเรา แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นสายเลือดเดียวกัน แต่เราก็เป็นคนร่วมชาติเดียวกัน”
เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อประเด็น อันเกิดจากผลกระทบจากการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสทางด้านตะวันออกของสยาม จึงอยากจะให้พวกเราคนไทยทั้งหลาย ได้เข้าใจสถานการณ์อดีต ที่ไม่มีใครจะเปลี่ยนมันได้ นอกจากจะเขียนเรื่องบิดเบือนให้เข้าใจผิด จึงขอนำเรื่องราวที่เป็นเหตุการณ์ในอดีต ในเล่าสู่กับฟังแบบคร่าวๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มีต่อสถานการณ์ในเวลานั้น จากข้อมูลของวิกิพีเดีย
การเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนสยามของฝรั่งเศส การติดต่อระหว่างฝรั่งเศสและกัมพูชาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ คณะทูตของมงติญี กงสุลฝรั่งเศสประจำเซี่ยงไฮ้เข้ามาทำสนธิสัญญากับไทยแบบเดียวกับสนธิสัญญาเบาว์ริงของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2399 เมื่อเดินทางออกจากไทย มงติญีได้เดินทางต่อไปยังกัมพูชา แต่พระองค์ด้วงกษัตริย์ในกัมพูชาขณะนั้นตอบว่ากัมพูชาเป็นเมืองน้อยไม่อาจทำสัญญาได้ตามลำพัง ต้องปรึกษาสยามก่อน คณะทูตของมงติญีจึงเดินทางต่อไปยังราชสำนักเว้ของเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะทูตของมงติญีกลับไปไม่นาน พระองค์ด้วงได้ส่งหนังสือไปยังกงสุลฝรั่งเศสของสิงคโปร์เมื่อ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 เพื่อนำไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศส เพื่อขอให้ฝรั่งเศสช่วยคุ้มครองกัมพูชาให้พ้นจากอำนาจของสยามและเวียดนาม ต่อมา ใน พ.ศ. 2406 หลังจากที่ฝรั่งเศสดำเนินนโยบายแข็งกร้าวในการยึดครองดินแดนเวียดนาม พลเรือเอก เดอ ลากรองดิแยร์ ได้เป็นข้าหลวงอินโดจีนฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกัมพูชาอีกครั้ง เพื่อให้กัมพูชาเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ในสมัยนั้น กษัตริย์กัมพูชาคือพระนโรดม พระโอรสของพระองค์ด้วง ได้ตกลงใจทำสนธิสัญญาดังกล่าว
หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 พระนโรดมได้ทำหนังสือกราบทูลรัชกาลที่ 4 ว่าถูกฝรั่งเศสบังคับให้ทำสัญญา สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชาโดยทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2406 เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา พระนโรดมยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ฝรั่งเศสได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญา ในที่สุด ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม พ.ศ. 2410 โดยสยามประกาศสละสิทธิ์การอ้างสิทธิใดๆเหนือกัมพูชา โดยเสียมราฐและพระตะบองยังเป็นของสยาม ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เวียดนามรบแพ้ฝรั่งเศส ยอมรับว่าโคชินจีนเป็นของฝรั่งเศส
เรื่องราวคร่าวๆ เป็นอย่างนี้ จึงส่งผลให้ประเทศกัมพูชาจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองฝรั่งเศส ต่อมาผลที่เกิดมาตามจากการบังคับให้ปฏิรูปของฝรั่งเศสคือการเกิดกบฏชาวนาภายในประเทศ องค์พระสีวัตถากลับมาเป็นผู้นำกบฏที่มีฐานที่มั่นทางตะวันออกของกัมพูชา ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกบฏและตั้งข้อสงสัยพระนโรดมอยู่เบื้องหลังการก่อกบฏครั้งนี้ ผลจากการปราบปรามทำให้ชาวกัมพูชาอพยพเข้าพระตะบองที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสยามกว่า 40,000 คน การกบฏกินระยะเวลากว่าสองปี ยุติลงเมื่อข้าหลวงคนใหม่คือฟิลิปินีเข้าเจรจากับพระนโรดมให้ยุติการกบฏภายใน 1 มกราคม พ.ศ. 2430 โดยฝรั่งเศสจะชะลอการปฏิรูประบบไพร่ทาส พระนโรดมจึงออกประกาศเรียกร้องให้ยุติการกบฏและประกาศนิรโทษกรรม องค์พระสีวัตถาหนีเข้าไปอยู่ที่แม่น้ำโขงตามแนวชายแดนกัมพูชา - ลาว การกบฏจึงสิ้นสุดลง
ราชอาณาจักรกัมพูชา ในช่วง พ.ศ. 2496–2513 เป็นการบริหารประเทศในช่วงแรกของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ตั้งแต่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ในช่วงแรกพระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศในฐานะพระมหากษัตริย์ ต่อมาทรงสละราชสมบัติมาเล่นการเมือง จัดตั้งพรรคสังคมราษฎร์นิยม ประวัติศาสตร์กัมพูชาในช่วงนี้มักถูกเรียกว่า สมัยสังคมราษฎรนิยม (សម័យសង្គមរាស្ត្រនិយម) หรือ กัมพูชาภายใต้การปกครองของพระสีหนุ อันเนื่องมาจากเป็นยุคที่พระนโรดม สีหนุได้ทรงรวมทั้งตำแหน่งพระมหากษัตริย์และผู้นำรัฐบาลในคราวเดียวกัน
ภายใต้การบริหารประเทศของพระนโรดม สีหนุ ถือเป็นยุคที่กัมพูชาเจริญรุ่งเรืองในทุกๆด้านและชาวกัมพูชาถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของชาวกัมพูชา
แม้การปกครองของสมเด็จนโรดมสีหนุคือยุคสมัยอันรุ่งเรืองแต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งแนวทางนโยบายช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงนิยมตะวันตก ต่อต้านคอมมิวนิสต์และเวียดนาม และดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับไทย ทั้งกรณีพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และการกวาดล้างชาวไทยเกาะกงในจังหวัดเกาะกง ภายหลังทรงหันไปเป็นมิตรกับจีนและเกาหลีเหนือมากขึ้น จนถูกรัฐประหาร โดยจอมพลลน นล เมื่อ พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นที่รู้จักในการรัฐประหารปี พ.ศ. 2513 ทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชาภายใต้ระบอบสังคมราษฎร์นิยมของพระนโรดม สีหนุต้องสิ้นสุดลงและได้มีการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ โดยจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรขึ้นแทน ส่วนพระนโรดม สีหนุต้องเสด็จลี้ภัยไปจัดตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทย – กัมพูชา ยังคงไม่สู้จะดีนัก เพราะทางฝ่ายกัมพูชาเองก็พยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ของตน เนื่องจากก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสนั้น กัมพูชาเองก็อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย และอยู่ภายใต้อการปกครองของประเทศไทยมาตลอด ในช่วงของการปกครองของฝรั่งเศส ไทยเองก็พยายามต่อสู้เพื่อทวงคืนแผ่นดินสยามร่วมกับพระชาชนในกัมพูชามาโดยตลอด นั่นคืออัตลักษณ์ไทยจึงฝังรากลึกอยู่ในกัมพูชา เมื่อกัมพูชาเป็นเอกราชกับแทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ประเทศฝรั่งเศสกลับให้ทางกัมพูชาเป็นประเทศภายใต้การปกครองของพระเจ้านโรดม ซึ่งมันขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ยึดครองจากประเทศสยาม แต่ให้เป็นเอกราชของกัมพูชา และเวลานี้ ประเทศกัมพูชาได้เอกราชมาแล้ว เกือบ 70 ปี หลังจากที่วางรากฐานระบบการปกครองดีแล้ว เวลานี้กัมพูเองกำลังจะสร้างอัตลักษณ์ตนเอง ด้วยการเคลมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทยไปเป็นของตนเอง
จึงฝากเรียนถึงนักการเมือง นักวิชาการสายการเมืองอนุรักษ์นิยม ทุกท่านนะครับ อย่าได้โยงเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาเป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการสื่อสารการเมือง เพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามเลยนะครับ ขอให้ท่านได้ทำกิจกรรมการเมืองอย่างสุจริตมีสัมมากัมมันตะ ถ้าพูดอย่างนักเลงหน่อยก็ว่า “เล่นการเมืองให้มีความเป็นลูกผู้ชายกันหน่อย” อะไรที่เป็นเรื่องของชาติก็ขอให้ยกเว้นเพื่อร่วมกันรักษาความเป็นชาติร่วมกันนะครับ เรามันคนไทยด้วยกัน