In News
'วิษณุ'แถลงสรุปผลสอบ2บิ๊กตำรวจแล้ว! 'บิ๊กต่อ'กลับนั่งผบ.ตร./'บิ๊กโจ๊ก'รอผลก่อน
กรุงเทพฯ-“วิษณุ” ทปษ.นรม. แถลงผลสอบ คกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฯ คดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผย นายกฯ ขอให้ปรองดองกันในงานราชการ ส่วนเรื่องส่วนตัวว่าไปตามข้อกฎหมาย
วันนี้ (20 มิ.ย. 67) เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงข่าว ความคืบหน้าผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นายวิษณุ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้มาทำการชี้แจงกรณีคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาท่ามกลางข่าวความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ ไม่พอใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อประมวลเรื่องราวว่ามีความเป็นมาอย่างไรเพื่อแก้ไขความเป็นไปในอนาคต ประกอบด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อช่วยเหลือในการสอบสวน เพราะภายใน 4 เดือนที่ผ่านมามีการสอบพยานไปกว่า 50 คน โดยในจำนวนนั้นได้สอบสวนคู่กรณีคือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร ด้วย โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ผลการตรวจสอบพบว่ามีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง มีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับสูง ระดับกลางหรือระดับเล็ก ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะเหตุเดียวกันหรือคนละเหตุและบังเอิญมาประจวบกันก็ตามจนกระทั่งเกิดเป็นคดีความต่าง ๆ ส่งผลให้มีการฟ้องร้องกันอยู่ภายนอกและมีเรื่องร้องเรียนภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย
2. เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล โดยแต่ละคนก็มีทีมงานของตัวเอง ทีมงานเหล่านี้ก็เกิดความขัดแย้งไปด้วยซึ่งคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านี้มีหลายคดี อาทิ คดี 140,000,000 บาทหรือคดีเป้รักผู้การฯ คดีกำนันนก คดีมินนี่ คดีพนันออนไลน์บีเอ็นเค และยังมีคดีย่อย ๆ แยกออกไปอีกประมาณ 10 คดี ซึ่งกระจายอยู่ตามสถานีตำรวจต่าง ๆ รวมทั้งในศาลด้วย โดยเฉพาะศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ ความขัดแย้งบางเรื่องเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิด บางความขัดแย้งเกิดขึ้นเกือบ 10 ปีแล้วจึงทำให้เกิดเป็นคดีเหล่านี้ขึ้นมา
3. ดำเนินการส่งเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมคือ ตำรวจ อัยการ ศาล ว่าไปตามปกติ
4. บางเรื่องเกี่ยวพันกับหน่วยงานนอกกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รับไปดำเนินการแล้ว ขณะนี้คดีทั้งหมดนั้นมีเจ้าของคดีรับไปดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่มีคดีที่ตกค้างอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีก โดยอาจจะกระจายไปยังสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้อง ป.ป.ช. และ DSI
5. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เนื่องจากได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้ถูกคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2567 ได้ส่งตัว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เพียงผู้เดียวกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยดำรงตำแหน่งและหน้าที่เดิม ขณะเดียวกันได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อสอบสวนทางวินัย ตามด้วยคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า สถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการนำความกราบบังคมทูลให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งก่อนถึงขั้นตอนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ ส่วนพล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ได้มีคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ตามหน้าที่เดิม เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีข้อที่ต้องสอบสวนแล้ว ซึ่งการสอบข้อเท็จจริงและการสอบสวน หรือทิศทางคดีนั้น จะดำเนินไปตามสายงานเดิมของกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ส่วนจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมต่อไปไหม เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ
นายวิษณุ กล่าวว่า ผลสรุปอีกข้อที่คณะกรรมการฯ เข้ามาตรวจสอบครั้งนี้ จากข้อมูลของการรายงาน เป็นการตรวจสอบข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง ไม่ได้ชี้ว่าใครถูกใครผิด และได้มีการรายงานต่อนายกฯ ว่า พบเห็นความยุ่งยาก และสับสนของอำนาจการสอบสวนของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งความซับซ้อนในเรื่องดังกล่าว คือการไม่ทราบถึงเขตอำนาจของความรับผิดชอบในการสอบสวน อาทิ อำนาจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อำนาจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เนื่องจากเป็นคดีทุจริตที่มีหน่วยงานมีอำนาจสอบสวนหลายรายเกินไป ซึ่งหน่วยงานหลักคือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แต่ความซับซ้อนดังกล่าวอาจเกิดจากแต่ละหน่วยงานได้รับมอบหมายให้ทำงานร่วมกัน คณะกรรมการฯ จึงได้มีการเสนอแนวทางว่าให้กระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยตรวจพิจารณาให้ชัดเจนว่า อำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบสอบสวนคดีดังกล่าว หรือถ้ามีคดีในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกในอนาคต จะอยู่ในอำนาจของใคร เพื่อจะได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ เพื่อเป็นคู่มือให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ว่าทุกหน่วยคิดเห็นตรงกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการเกี่ยงกันเรื่องอำนาจในการรับผิดชอบกันไปมา และป้องกันไม่ให้เกิดความยุ่งยากของอำนาจสอบสวนต่อไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก
นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า นายกฯ ได้รับทราบรายงานนี้ทั้งหมดแล้ว มีคำสั่งให้ตนเองชี้แจงและแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งคือ 1. คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีคณะกรรมการประสานงานกระบวนการยุติธรรมไปตรวจสอบในเรื่องของเขตอำนาจ โดยคดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีอาญา ในชั้นสอบสวนไม่มีคนชี้ขาด คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงต้องดำเนินการต่อไป 2. มีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปดำรงตำแหน่งเดิม 3. การดำเนินการอย่างอื่น ให้เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการสอบวินัยหรือจะต้องสอบบุคคลอื่นเพิ่มเติม
“นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันในงานราชการ ส่วนเรื่องส่วนตัวหากมีการกระทำผิดก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย การทำงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ให้ประชาชนมีความรู้สึกเสื่อมศรัทธา เสียภาพพจน์ภาพลักษณ์ที่ดี เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือแก้ไขทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเชื่อว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะเบาบางลง ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายก็ได้พูดคุยกันพอสมควร และคณะกรรมการฯ ก็ได้เข้าไปไกล่เกลี่ยบางเรื่องให้แล้ว” นายวิษณุ กล่าว