In News

ข้อเสนอกสม.แนะรัฐไม่ตั้งนิคมสร้างตัวเอง และแผนแผนแม่บทแก้ปัญหาภูทับเบิก



กรุงเทพฯ-"รัดเกล้า" เผย ครม. รับทราบข้อเสนอแนะกรณีหน่วยงานของรัฐไม่จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขา และจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 ไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนชาติพันธุ์ม้ง จังหวัดเพชรบูรณ์

วันนี้ (25 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบข้อเสนอแนะกรณีหน่วยงานของรัฐไม่จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 ไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนชาติพันธุ์ม้ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 247 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (1) และมาตรา 36 ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ

กสม. รายงานว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาบริเวณหมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล และหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ (ภูทับเบิก) แต่กลับไม่จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเชา และยังจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 ไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนชาติพันธุ์ม้ง บริเวณภูทับเบิก

ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2505 อนุมัติให้กรมประชาสงเคราะห์ ปัจจุบันคือ พส. จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขา ในบริเวณทิศเหนือของป่าหมายเลข ๒๒ ท้องที่อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ไม่สามารถจัดตั้งได้ เนื่องจากในขณะนั้นมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ (คอมมิวนิสต์) ประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ มีป่าไม้ ภูเขาสูง และฝนตกชุกไม่เหมาะสมกับการจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเอง

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 ให้ พส. คืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ไปดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน จึงเป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเปลี่ยนแปลงมติเดิม ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2505 ย่อมสิ้นผลไป การที่ พส. ไม่ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาจึงไม่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

พส. ได้ส่งคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 แต่ขอกันพื้นที่ประมาณ 47,021.52 ไร่ ไว้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 แต่แผนแม่บทดังกล่าวไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณภูทับเบิกตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้พื้นที่ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ พส. และกรมป่าไม้ ซึ่งมีนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่แตกต่างกัน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่มีวิถีวัฒนธรรมและเป็นชุมชนเดียวกันมาตั้งแต่ต้น และกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินสิทธิชุมชน สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ และความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

1. ให้ พส. กรมป่าไม้ และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจัดที่ดินบริเวณหมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล และหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่าจังหวัดเพชรบูรณ์ (ภูทับเบิก) ทั้งส่วนที่อยู่ในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 และส่วนที่อยู่ในเขตป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ในรูปแบบอื่นตามมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้กับผู้ร้องและประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งเพื่ออยู่อาศัยและทำประโยชน์ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไขการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้ หาก พส. จัดที่ดินบริเวณภูทับเบิกเฉพาะส่วนที่อยู่ในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 จะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการวางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการจัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 70 และมาตรา 72 (1) และ (3)
2. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้พื้นที่ เพื่อจัดที่ดินต่อไปได้ ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วัน เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป