In News

ยันรัฐฯตัดตอนการผูกขาดซื้อ-ขายไฟฟ้า เปิดให้พลังงานสะอาดซื้อขายได้โดยตรง



กรุงเทพฯ-​โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลปรับโครงสร้างพลังงานไฟฟ้า ลดการผูกขาดภาคเอกชน ดำเนินโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA) พร้อมใช้ประโยชน์จากการใช้พลังงานสะอาด ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจในคราวเดียวกัน

วันนี้ (27 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวคิดในการปฏิรูปปรับโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดในการลดการผูกขาดของภาคเอกชน เพื่อให้ราคาไฟฟ้าลดลง ช่วยเหลือ ลดค่าครองชีพของประชาชนในระยะสั้น เพิ่มความมั่นคงให้เกิดเป็นราคาที่เหมาะสมในระยะยาว ซึ่งเป็นแนวทางที่จะเกิดการดึงดูดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในคราวเดียวกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า โดยแนวคิดส่วนนี้ เริ่มเกิดเป็นความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ระหว่างเอกชนกับเอกชน ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้ และสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ ทั้งนี้ที่ประชุมได้อนุมัติกรอบกำลังไฟฟ้าที่จะอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงกันได้รวมกันไม่เกิน 2,000 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ยังกำหนดด้วยว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในระบบ Direct PPA นี้ อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ในภูมิภาคด้วย

ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน (พน.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ต่อสถานภาพของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมอบหมายให้ กกพ. จัดทำอัตราค่าบริการ TPA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยให้ครอบคลุมค่าบริการต่างๆ เช่น

1.ค่าบริการระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge)
2.ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Connection Charge)
3.ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า (System Security Charge หรือ Ancillary Services Charge)
4.ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า (Imbalance Charge)
5.ค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย (Policy Expenses) และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ และสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป

“การพัฒนาโครงสร้างพลังงานนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของไทย เป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุน จะทำให้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้บริษัทใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนสร้างโรงงาน สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเพื่อความมั่นคงของพลังงานระยะยาว และประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าที่ราคาเหมาะสมครับ” นายชัย กล่าว