In News

'เงินช่วยน้ำท่วมทุกครัวเรือนได้9พันบาท' ดีอีเตือนเป็นข่าวปลอมอย่าเชื่อ-อย่าแชร์



กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เงินช่วยเหลือน้ำท่วม ช่วยทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 9,000 บาท” รองลงมาคือเรื่อง “ประเทศไทยจะหนาวถึง 6 องศา และมีหิมะตก” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 20-26 ธันวาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 835,680 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 566 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 544 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 21 ข้อความ ช่องทาง Website จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 228 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 76 เรื่อง 

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 94 เรื่อง 

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 79 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 8 เรื่อง 

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 15 เรื่อง 

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 32 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับโครงการของรัฐบาล และหน่วยงานรัฐ เรื่องภัยพิบัติ เรื่องสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด วิตกกังวลได้ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง เงินช่วยเหลือน้ำท่วม ช่วยทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 9,000 บาท

อันดับที่ 2 : เรื่อง ประเทศไทยจะหนาวถึง 6 องศา และมีหิมะตก

อันดับที่ 3 : เรื่อง หากมองเห็นภาพเป็นชามหงายทุกใบ แสดงว่าสมองส่วนหน้ายังใช้งานได้ดีอยู่ และหากยังมองเห็นชามคว่ำอยู่ ควรรีบพบแพทย์

อันดับที่ 4 : เรื่อง การไฟฟ้าเปิดให้ลงทะเบียนมิเตอร์ใหม่ โดยลงชื่อผ่านไลน์เพื่อรับเงินคืนค่ามิเตอร์เก่า 3,500 บาท

อันดับที่ 5 : เรื่อง แนะนำผู้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ตรวจวัดระดับ Homocysteine ในเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

อันดับที่ 6 : เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข เปิดเพจเฟซบุ๊ก ให้ข้อมูลยาสมุนไพรปึ๋งปั๋ง

อันดับที่ 7 : เรื่อง คนไทยถูกหักเงินประกันสังคม 750 บาท เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แรงงานต่างด้าว

อันดับที่ 8 : เรื่อง รัฐขึ้นภาษี 15% ไม่ได้ จึงปรับประกันสังคมขึ้นเป็น 1,150 บาทต่อเดือน

อันดับที่ 9 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ ดวงดรุณี ช่วยรักษาริดสีดวงเห็นผลภายใน 7 วัน

อันดับที่ 10 : เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพิ่มช่องทางติดต่อผ่านไลน์ ไอดี 1129065

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับ หน่วยงานรัฐ เรื่องของภัยพิบัติ และสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว 

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “เงินช่วยเหลือน้ำท่วม ช่วยทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 9,000 บาท” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 9,000 บาท ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยใน 2 กรณี ดังนี้

1. ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมไม่เกิน 7 วัน และมีทรัพย์สินเสียหาย

2. ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมเกิน 7 วัน ซึ่งที่อยู่อาศัยประจำดังกล่าวจะต้องอยู่ในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย และ/หรือ ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 

โดยหากตรวจสอบแล้ว ประชาชนที่ยื่นคำร้องฯ ได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์กำหนด จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 9,000 บาท โดยธนาคารออมสินจะเป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยโดยตรง

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะหน่วยรับงบประมาณและหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้กำชับจังหวัดที่ได้รับจัดสรรเงินช่วยเหลือฯ กรณีพิเศษ ตามมติ ครม. ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบความข้อมูลให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ครม.กำหนด ก่อนส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินให้ผู้ประสบภัยต่อไป ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารของ ปภ. ได้ที่เว็บไซต์ www.disaster.go.th และ http://newdisaster.disaster.go.th หรือ โทร. 02-637-3000 สายด่วน 1784

ด้านข่าวปลอมอันดับ 2 “ประเทศไทยจะหนาวถึง 6 องศา และมีหิมะตก” กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีสภาพอากาศร้อนสลับกับฝนตกชุกตลอดปี ไม่เอื้อต่อการก่อตัวของหิมะ เนื่องจากหิมะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส จึงทำให้โอกาสการเกิดหิมะในประเทศไทยนั้นถือว่าน้อยมาก

ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนอย่าแชร์หรือส่งต่อข่าวปลอมนี้ และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม โดยสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)  |  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com