In Bangkok
มีนบุรีคุมเข้มฝุ่นจิ๋วจากหม้อไอน้ำซีพีเอฟ เยือนชุมชนบางชันพัฒนาคัดแยกขยะ
กรุงเทพฯ-มีนบุรีคุมเข้มฝุ่นจิ๋วหม้อไอน้ำ (Boiler) ซีพีเอฟ โรงงานอาหารแปรรูปมีนบุรี 2 เยือนชุมชนบางชันพัฒนาคัดแยกขยะไม่เทรวม ปั้นสวน 15 นาที สวนบึงขวาง เล็งเปิด Hawker Center หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง รามคำแหง 188-190
(17 ม.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตมีนบุรี ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงานอาหารแปรรูป มีนบุรี 2 ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของหม้อไอน้ำตามแผนงานที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 5 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 9 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 9 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เน้นย้ำสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนบางชันพัฒนา ถนนหม่อมเจ้าสง่างาม สุประดิษฐ์ พื้นที่ 40 ไร่ ประชากร 879 คน บ้านเรือน 157 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ (ปลา ไก่ เป็ด) กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปใส่ถังหมักรักษ์โลก 2.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว 3.ขยะทั่วไป กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะให้ถูกประเภท 4.ขยะอันตราย กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะให้ถูกประเภท สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 580 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 450 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนและหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
พัฒนาสวน 15 นาที สวนบึงขวาง ซึ่งเขตฯ ได้ปรับสภาพพื้นที่ พัฒนาบึงบัวกลางสวน จัดทำทางเดินรอบสวน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นกระทิง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่น เพิ่มความสดชื่นสวยงามภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 พื้นที่ 5 ไร่ 2.สวนมีนรมณีย์ พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ 1.สวนธนาคารต้นไม้มีนบุรี พื้นที่ 3 งาน เป็นแหล่งขยายพันธุ์ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น และพืชผักไว้แจกจ่ายประชาชน 2.สวนมีนบุรีภิรมย์ ถนนสีหบุรานุกิจ หลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ พื้นที่ 2 ไร่ จุดเด่นของสวนคือ เสาชิงช้าจำลอง ซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่กลางสวน 3.สวนสุดสายที่ปลายราม ถนนรามคำแหง พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 4.สวนสามวาสาม พื้นที่ 3 งาน 5.สวนชมพูพันธ์ทิพย์ พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 6.สวนบึงขวาง พื้นที่ 12 ไร่ 2 งาน อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ ทำคันดิน ทำร่องน้ำ ปลูกต้นไม้ยืนต้น 7.สวนประชาร่วมใจ พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน อยู่ระหว่างออกแบบสวน 8.สวนนิมิตใหม่ พื้นที่ 250 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวนหลังคอนโดแอทโมซโฟลว์ มีนบุรี ถนนสีหบุรานุกิจ อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.สวนซอยบัวขาว พื้นที่ 750 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 11.สวนหลังแฟลตอัยการมีนบุรี พื้นที่ 450 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมภายในสวน เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ซอยรามคำแหง 188-190 ซึ่งเป็นจุดที่เขตฯ จะจัดทำเป็น Hawker Center ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่าง อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ พร้อมคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 90 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง จากเดิมเป็นพื้นที่ต่ำกว่าทางเท้า โดยยกระดับพื้นให้สูงขึ้นเสมอกับทางเท้า พร้อมทั้งก่อสร้างรางระบายน้ำและตะแกรงเหล็กปิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับสำนักการคลัง เรื่องค่าธรรมเนียมและค่าบริการทำการค้าในที่สาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่สาธารณะตามประกาศกรุงเทพมหานครปี 67 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 96 ราย ได้แก่ 1.ถนนราษฎร์อุทิศ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. 2.ถนนสามวา ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. 3.ถนนสีหบุรานุกิจ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 4.ถนนสุวินทวงศ์ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 5.ถนนหทัยราษฎร์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนรามคำแหง ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ ผู้ค้า 3 ราย ยกเลิกวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ในปี 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนสามวา ผู้ค้า 8 ราย 2.ถนนสีหบุรานุกิจ ผู้ค้า 25 ราย
ในการนี้มี นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล