In Thailand

โคราชพร้อมรับครม.สัญจร'สุวัจน์'จัดเต็ม ยกครัวราชภัฎจัดอาหารต้นตำรับต้อนรับ



นครราชสีมา-วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 12.00 น.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รศ.ดร. อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายวัชรพล โตมรศักดิ์ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครราชสีมา ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 4/2567 ณ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2567

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยฯ ว่ามหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมในการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 4 ได้มีการประสานงานกับสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา ในการต้อนรับโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ประชุม ซึ่งทางมหาลัยราชภัฏฯ มีห้องประชุมใหญ่ ที่มีสิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ ที่มีมาตรฐาน มีความพร้อมสําหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการต้อนรับต่างๆ ได้เตรียมการเป็นที่เรียบร้อย

นายสุวัจน์ กล่าวว่าในช่วงที่มีการประชุมครม. โดยได้ดําเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมเรื่อง soft power เรื่องของดีแต่ละจังหวัด เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทางด้านการท่องเที่ยว ที่โคราชถือว่าเป็นเมืองที่มีพื้นฐานทางด้าน soft power มาก ไม่ว่าจะเป็นภาษาโคราช ผ้าไหมโคราช อาหารโคราช เพลงโคราช มวยโคราช ฉะนั้น ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏโคราช ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่น ที่ทําในเรื่องของอาหารโดยเฉพาะอาหารพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง อาหารอีสาน

ดังนั้น ท่านอธิการบดี จึงได้จัดเตรียมโต๊ะโคราช ไว้สําหรับการต้อนรับ ยกตัวอย่างเช่น ในการเสิร์ฟอาหารจะใช้กาบหมาก แทนจาน และเตรียมอาหารที่เป็นอาหารดั้งเดิม เช่น ต้มยําไก่บ้านใบมะขามอ่อน คั่วหมี่โคราช ไก่ย่างท่าช้าง ส้มตําโคราช เมี่ยงคําโคราช ลอดช่องไผ่ทองสยาม ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ กาแฟดงมะไฟ อาหารที่ได้มิชลินไกด์ ขนมจีนบ้านประโดก ของครูยอด ลาบหมู ร้านลาบสมพิศ  และร้านอร่อยดังของเมืองโคราช อย่าง กุ้งดอง จากภัตตาคารเสี่ยวเสี้ยว ข้าวมันไก่ จากร้านรักกาแฟ ก๋วยเตี๋ยวจากร้านหอมโอชา สิ่งเหล่านี้เป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้าจีไอ ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมา

ฉะนั้น ในเมนูอาหารต่างๆ ทางราชภัฏ ต้องการที่จะโปรโมทในส่วนนี้ และต้องการที่จะต่อยอด เพื่อให้ครัวโคราช ครัวอีสาน ครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดรับกับพื้นฐานของการที่จะส่งเสริมอาหารไทยไปสู่อาหารโลก

ดังนั้น ทางราชภัฏโคราช ได้ร่วมกับทางจังหวัด ทําโครงการในการที่จะสร้างศูนย์กลางการประกอบอาหารนครชัยบุรินทร์ คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เป็นศูนย์กลางในการประกอบอาหาร ช่วยผู้ประกอบการว่าใครอยากจะเป็นเชฟดังๆ ใครอยากที่จะต่อยอดให้เป็นนักธุรกิจ เป็นเจ้าของภัตตาคาร หรือใครอยากจะเรียนรู้อาหารต้นตําหรับต่างๆ ของภาคอีสาน ต่อไปก็จะมาเรียนที่นี่ได้

ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ท่านผู้ว่าฯ จังหวัดนครราชสีมา ได้พิจารณาที่จะนําเสนอคณะรัฐมนตรี ประกอบกับส่วนอื่นๆของการจังหวัด และส่วนนี้เป็นส่วนที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้ดําเนินการ เพื่อเป็นการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว เป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ เป็นนโยบายที่สําคัญของรัฐบาลในการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว เพื่อที่จะมาเพิ่ม GDP และช่วยเศรษฐกิจรากหญ้าในต่างจังหวัด

ฉะนั้น ทางราชภัฏได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา หยิบของดีเมืองโคราช คือ โคราชมีดินแดนสามมรดกของยูเนสโก อยู่ในพื้นที่ที่เป็น World Heritage หรือมรดกโลกที่เขาใหญ่ อยู่ที่ปากช่อง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช อ.ปักธงชัย สองอันนี้ได้รับเกียรติจากยูเนสโกมาแล้ว และล่าสุด อันที่สาม คือ อุทยานธรณีโลก ในพื้นที่ 5 อำเภออำเภอได้แก่ อ.เมือง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และอําเภอเฉลิมพระเกียรติ

 

ฉะนั้น จังหวัดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ทำโครงการ ที่เรียกว่า โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใน 3 ดินแดนของยูเนสโก ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเพราะว่าทั่วโลก 3 ดินแดนนี้ มีแค่ 4 จังหวัดใน 4 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น ที่มีพื้นที่อย่างนี้ ฉะนั้นทางจังหวัดกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ เห็นว่าอันนี้จะเป็นการสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้กับประเทศ เพื่อที่จะบูมเรื่องนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะว่าที่โคราช ตอนนี้รัฐบาลได้ลงทุนเป็นแสนล้าน ในการสร้างมอเตอร์เวย์ มาโคราช สร้างรถไฟทางคู่ สร้างรถไฟความเร็วสูง ฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลวางไว้เหมาะที่จะพานักลงทุน เหมาะที่จะพานักท่องเที่ยวมาเที่ยว ในพื้นที่พัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

ซึ่งทางท่านผู้ว่าฯ กับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ได้ร่วมกับทางโครงการและก็นําเสนอคณะรัฐมนตรี ก็แล้วแต่คณะรัฐมนตรี จะพิจารณาเห็นสมควรอย่างไร ว่าจะเกิดประโยชน์อะไรให้กับทางเศรษฐกิจของประเทศ  ทั้งหมดนี้คือภาพรวมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ มีความพร้อมและคิดว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการประชุมที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและภาคอีสาน หรือจังหวัดนครราชสีมา เพราะทางคณะรัฐมนตรี จะได้เห็นสภาพรายละเอียด สภาพข้อเท็จจริง แล้วมาติดตามโครงการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการประโยชน์ และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงต่อไป นายสุวัจน์กล่าว.

 นครราชสีมา / กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ