Biz news

ความยั่งยืนโจทย์ใหญ่การพัฒนาทั่วโลก ธุรกิจต้องปรับตัวพร้อมสังคมและชุมชน



กรุงเทพฯ-งานเสวนาใหญ่ในวาระ 60 ปี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เวทีช่วงบ่ายวันที่ 18 กันยายน เริ่มต้นด้วยหัวข้อ “The Era of Sustainomy” โลกแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน 

นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จํากัด และสมาชิกสภาอนาคตโลก (Global Future Council) จาก World Economic Forum กล่าวว่า "The Era of Sustainomy" การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิมซึ่งเน้นกำไรอย่างเดียว (Profit) สู่ยุคใหม่ การบริหารจัดการที่คำนึงถึง 3 ส่วนคือ ผลกำไร (Profit) ผู้คน (People) และโลก (Planet) เป็นกลไกขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป แต่คือการลงทุนระยะยาวที่สามารถนำไปสู่กำไรที่ยั่งยืน ธุรกิจจึงต้องตั้งคำถามว่า การบริหารจัดการเรื่องความยั่งยืนคือ "ต้นทุน" หรือ "ลงทุน"

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักแม้การเดินทางสู่ความยั่งยืนจะมีความท้าทาย เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เน้นทุนนิยม (Capitalism) ซึ่งถึงแม้จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วงแรก แต่ก็สร้างปัญหาให้กับโลกในภายหลัง เป็นความท้าทายของทุนนิยมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

“การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เน้นการเชื่อมโยงคนกับสินค้า จนถึงยุคของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่เชื่อมโยงคนกับข้อมูลและคนกับคน แต่ในยุคปัจจุบัน ปัญหาของโลกกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ปัญหาการแยกตัวทางเศรษฐกิจ-การเมือง (Geo-Economic Fragmentation) การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินไป (Over-Nature Consumption) และปัญหาหนี้ที่เพิ่มขึ้น (Debt Crisis)”

Sustainomy โมเดลความยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงวิธีการเติบโตเพื่อรวมคนและโลกในการขับเคลื่อน คือกุญแจสำคัญที่จะนำโลกไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งคนและสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง แนวคิด Sustainomy จึงเป็นโมเดลใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทุนนิยมสร้างไว้ ด้วยการปรับตัวให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นการเดินทางไกล และแม้ไม่สามารถบอกได้ว่าจะสำเร็จเมื่อใด แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักถึงความเชื่อมโยงของทุกส่วนในระบบเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนจากระบบตลาดแบบเดิมมาเป็นระบบที่คำนึงถึง Ecosystem ของผู้บริโภค และ Citizen อย่างทั่วถึง” การปรับตัวเป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนในอนาคต สุดท้าย ไม่มีธุรกิจใดต้องการเป็น "ผู้ร้าย" ในระบบเศรษฐกิจ

ในหัวข้อ Sustainable Business: An Enduring Marathon การพัฒนาด้านความยั่งยืนซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะเห็นว่าหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่หลายรายทำเรื่องความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ถึงกระนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป และความเป็นอยู่ของผู้คนที่ยังมีความไม่เท่าเทียม Sustainable Business ยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้น

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยพูดเรื่องความยั่งยืนมานาน สิ่งสำคัญ คือประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในโลก มองไปข้างหน้าผู้คนในอนาคตจะอยู่กันอย่างไรในสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป ทุกคนจึงให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือทำทั้งโลก ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ 

เมื่อพูดถึงความยั่งยืนสิ่งสำคัญที่ต้องมีควบคู่กันไปคือนวัตกรรมที่ดีขึ้น แต่บางครั้งนวัตกรรมเหล่านั้นเน้นตอบโจทย์เฉพาะด้านเศรษฐกิจ ไม่ตอบโจทย์เรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของ ปตท. ซึ่งทำธุรกิจด้านพลังงาน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สิ่งที่ปตท. ทำไม่ใช่แค่มีพลังงานให้เพียงพอต่อการใช้ แต่ต้องคำนึงด้วยว่าพลังงานที่ใช้นั้นดีต่อโลกหรือไม่ พลังงานสะอาดก็ยังไม่พอ ต้องเป็นพลังงานสีเขียวไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าพลังงานสีเขียวเหล่านี้อยู่ในราคาที่ประเทศรับได้หรือไม่ มีมากพอต่อความต้องการใช้เพียงใด ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทุกคนเข้าถึงได้ ราคาไม่แพงเกินไป ทำให้ระบบขับเคลื่อนได้

“วันนี้พูดเรื่องยั่งยืน license to operate เราพูด 4 เรื่อง innovation, inclusive, sustainability, และ resilience ประเด็นที่สำคัญ ถ้าทุกคนเรียกร้องเราต้องหาพลังงานสะอาดให้ลูกค้า ”ธุรกิจของ ปตท. มูลค่ากว่า 90% มาจากรายได้ด้านพลังงาน วันนี้ยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้แค่ green แต่ยังไม่ clean อนาคตต้องไปสู่พลังงานที่ทั้ง green และ clean อย่างเช่นการพัฒนา EV station ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และขณะเดียวกันก็ต้องมองหาพลังงานใหม่ๆ มาเสริมเมื่อพลังงานจากแดดและลมมีข้อจำกัด อาจมองหาพลังงานใหม่ เช่นไฮโดรเจน ซึ่ง ปตท. ได้ทดลองค่อยๆ ผสมไฮโดรเจนในก๊าซธรรมชาติ และขณะเดียวกันในหลุมที่ไม่มีก๊าซธรรมชาติอาจนำพลังงานใหม่ๆ นี้ไปเก็บไว้ โดยย้ำว่าการปรับตัวของ ปตท. ไม่ได้ทิ้งพลังงานไปธุรกิจใหม่ทั้งหมด

ดร.บุรณิน ย้ำว่าความยั่งยืนต้องมองทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป ที่ผ่านมา ปตท. เริ่มปรับตัวด้วยการขยายเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนทั้งสองด้าน โดยเข้าลงทุนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์และยา เนื่องจากเห็นแนวโน้มคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งเรื่องเวลเนสความเป็นอยู่ที่ดี “ปตท. ขยายเข้าสู่ธุรกิจ life science โดยเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทผลิตยาสามัญ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา” และบริษัทที่ผลิตยาสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นการขยายที่ตอบโจทย์ประเทศ ปตท. พยายามทำเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำ และบริษัทใหญ่ในไทยทำไม่ได้ พร้อมส่งเสริมอีโค่ซิสเต็มให้กับเอสเอ็มอี เป็นแนวทางการปรับตัวของ ปตท.

ผู้บริหาร ปตท. ย้ำว่าการขยายไปสู่ธุรกิจที่สองต้องตอบโจทย์ความต้องการ และต้องทำได้ทั้งความเร็วและมีศักยภาพมีอนาคตสามารถเติบโตได้ อย่างคาเฟ่อะเมซอนที่เริ่มมีกำไรในปีที่ 9 ของการทำธุรกิจ วันนี้อะเมซอน 4,000 แห่ง และมีสเตชั่น 2,000 แห่ง คนอยากได้สวนและอะเมซอนยอมทำในสถานีน้ำมัน

นอกจากปรับตัวดังกล่าวแล้ว หากยังไม่พอต้องหันมาดูเรื่องปลูกป่า อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าการปลูกป่าทำให้ได้มากกว่าต้นไม้ โดยคิดจากเรื่องใกล้ตัว โลก สังคม สิ่งแวดล้อม ลองทำถ้าใช่ก็ไปต่อไม่ใช่ก็หยุด อย่างไรก็ตาม ดร.บุรณิน บอกว่าวันนี้ประเทศไทยปล่อย CO2 แค่ 1% ของทั้งโลก

เทคโนโลยีนำร่องการปรับตัว

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า เอไอเอสไม่ต่างจากบริษัทอื่นอยากเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาคนอาจไม่สนใจ แต่ปีนี้ทุกคนเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ แม้ธุรกิจก้าวหน้าไปมาก แต่หากไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม การขยายก็ทำได้ยาก และยิ่งสภาพแวดล้อมเปลี่ยนเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ก็สำคัญ “โลกวันนี้ ESG จำเป็น เราถูกบังคับจากผู้บริโภคเขาจะใช้เราหรือไม่ เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่แคร์เรื่องนี้ กฎกติกาอันใหม่ คู่แข่ง สังคมและชุมชนสำคัญ ทำอะไรไม่ง่าย” สมชัยย้ำและว่า การที่เราจะบริหารธุรกิจใดก็ตามเล็กใหญ่ต้องมองการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ทำก็อยู่ในโลกใบนี้ไม่ได้

นายสมชัย กล่าวว่า เอไอเอสโชคดีที่ทำธุรกิจสมัยใหม่ ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรวายเดอร์ เอาดิจิทัลเซอร์วิสไปใส่ในมือลูกค้า ให้ความสะดวกสบายและลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมไปแบบอัตโนมัติ การสื่อสารช่วยลดการเดินทางลด CO2 ได้มาก แต่การปรับตัวต้องทำไปด้วยกันทั้งอีโค่ซิสเต็ม หรือเรียกว่า อีโค่ซิสเต็ม อีโคโนมี

โดยดำเนินการในสิ่งสำคัญ คือ เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น ช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ แต่ต้องมีนวัตกรรมเรื่องกรีนอินโนเวชั่น  และนวัตกรรมเพื่อสังคม โซเซี่ยลอินโนเวชั่น “ผู้บริโภคให้ความสำคัญ โลกก็เช่นกัน คู่แข่งเราทำ ถ้าเราไม่ทำตามก็ไม่ได้” สมชัย ยกตัวอย่างการปรับตัวของเอไอเอสในเรื่องการดูแลเสาสัญญาณที่มีอยู่กว่า 40,000 ต้น ซึ่งเปลี่ยนเป็นโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 20% และด้านเน็ตเวิร์คเดิมใช้คนลงไปสำรวจดูแล แต่วันนี้มีเอไอตรวจจับตัวเองได้ลดการใช้คน ลดค่าใช้จ่ายและลด CO2

อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ย้ำว่าการทำให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืนระยะยาว ต้องเป็น Tone from the Top คือระดับหัวสั่งการว่าทุกอย่างต้องเติบโตและยั่งยืน ไม่ใช่แค่ตอบแบบสอบถามให้ได้รางวัล แต่ต้องลงมือทำจริง มีการกำหนดและวัดผลเป้าหมายให้ชัดเจน

นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า แนวทางของเซ็นทรัลเดินตามรอยผู้บริหารยุคบุกเบิกที่เน้นให้ต้องดูแลธุรกิจขนาดเล็กและกลาง เซ็นทรัลจึงเดินมาในแนวทางนี้ สิ่งที่ให้ความสำคัญ คือ การศึกษา ด้านการเกษตรกร และเอสเอ็มอี “ผมลงพื้นที่บ่อย พบสิ่งแวดล้อมมีปัญหามาก เลยมาเขย่าแผนและพัฒนาจนเป็นที่ท่องเที่ยวได้ พยายามดูแลทุกที่ให้ดีสุดตามคอนเซ็ปท์ เซ็นทรัล ออฟ” ด้วยหลักคิดว่าทำธุรกิจสำเร็จคืนกำไรสังคม แต่ตอนหลังเปลี่ยนไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม (create shared value) โดยทำไปพร้อมกับการทำธุรกิจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม ควบคู่กัน

ขณะเดียวกันก็สอนพนักงานเซ็นทรัลให้เปลี่ยนแนวคิดให้พร้อมช่วยเหลือ ทั้งการแบ่งปันคุณค่าและความรู้  “ปกติเราทำอะไรสั้นๆ ตอนนี้ไม่แล้วเรามองระยะยาว ไม่มองเฉพาะตัวเองแต่มองผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ส่งต่อความรู้ความชำนาญ เป็นเอ็กซเพิร์ตสอนคนอื่นต่อไป ดูเรื่องความเป็นอยู่ชุมชนและผลกระทบ” ปรับการทำธุรกิจให้ควบคู่กับชุมชน และพยายามทำเวิร์คช็อปสอนซัพพลายเออร์ บริษัทใหญ่ทำอยู่แล้วแต่รายเล็กเอสเอ็มอีไม่ได้ทำพวกเขาไม่รู้ จึงพยายามสอนเอสเอ็มอีให้เร็วที่สุด ด้านการปรับตัวในการส่งออกสินค้า

นายพิชัย ย้ำว่า ธุรกิจนอกจากกำไร ต้องได้สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยของเสียจัดการให้เป็นศูนย์ กลุ่มโรงแรมของเซ็นทรัลก็เน้นมากในเรื่องความยั่งยืน ขยะทะเล ต้นไม้ แต่ละกลุ่มธุรกิจมีเป้าหมายต่างกันแต่โดยรวมเป็นเรื่องเดียวกัน ผู้นำต้องทำจริงจังตามกติกา ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่กรีน จึงเป็นโจทย์ให้ทุกหน่วยธุรกิจคิดและทำแผน เช่น ศูนย์อาหารหลายศูนย์ นำอาหารที่เหลือหรือหมดอายุไปทำปุ๋ย และปรับใช้แพคเกจจิ้งที่เป็นรีไซเคิล ปลูกฝังพนักงาน ลูกค้าและทุกภาคส่วนโดยพยายามให้ทุกคนทำด้วยกันและทำด้วยใจ

“เรื่องความยั่งยืนต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากโรงเรียนให้เด็กรุ่นใหม่เติบโตมาด้วยแนวคิดเหล่านี้ จะทำให้ทุกคนเข้าใจเห็นคุณค่าและมีส่วนร่วม” นายพิชัย ยังได้ยกตัวอย่างเรื่องการปลูกป่าว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้ปลูกกาแฟ และอาโวคาโด้ไปแล้ว 6,000 ไร่ และทำศูนย์เรียนรู้มีคนมาเยี่ยมชมวันละ 200-300 คน ทำเป็นที่ท่องเที่ยวเป็นจุดเช็คอินของจังหวัด เป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์แล้ว 12 แห่งจะเพิ่มเป็น 50 ที่ภายในสองปี ทำเรื่องยั่งยืนให้ทุกคนคิดต่อยอดได้ ทำท่องเที่ยวชุมชนสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

หัวข้อถัดมา The New Leader’s Perspective: Sustainability Way Forward ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ความยั่งยืนไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของทั้งโลก

ทุกอุตสาหกรรมเน้นเรื่อง ESG ซึ่งกระทบซัพพลายเชนจำนวนมาก และเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) คุยกันมาหลายปี แต่ใน 2-3 ปีนี้พบปัญหาจริง อากาศร้อนขึ้นทุกปีทำสถิติใหม่ตลอด และอุทกภัยรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบอย่างมาก การผลิตกระทบหมด เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ไขไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่เรื่องนี้เป็นทั้งปัญหาและเป็นโอกาส  สินค้าที่ตอบโจทย์ในการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ถ้าช่วยตั้งแต่ต้นทางทุกคนปรับตัวหมด จะเป็นโอกาสที่ทุกคนเดินไปในโซลูชั่นใหม่ๆ

“ผมมองคล้ายทุกภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องเดียวกัน GC เป็นการผลิตอุตสาหกรรมพื้นฐาน คงทำซีโร่คาร์บอนไม่ได้ทั้งหมดเพราะใช้พลังงานเยอะมาก มองไป 20-30 ปีข้างหน้า ความท้าทายคือต้นทุนการทำให้ปลอดคาร์บอน” แต่แนวทางที่พอจะไปได้คือลดของเดิมและไม่สร้างของใหม่ ธุรกิจใหม่ในอนาคตหน้าตาจะเหมือนเดิมต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดร.ชญาน์ ย้ำว่าเมืองไทยต้องเริ่มคิดถ้าลดไม่ได้ 100% จะทำได้แค่ไหน ยุโรป อเมริกาทำ carbon capture โดยรัฐบาลสนับสนุน “แผนเราปี 2040 เก็บได้ 500 คาร์บอนจะไปเก็บใต้พื้นทะเล เทคโนโลยีมีแต่การลงทุนสูง ต้องร่วมมือกันทำโครงสร้างพื้นฐานใช้ในอนาคต เทคโนโลยีได้แต่ติดเรื่องต้นทุน”

พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต 

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย และสายงานการลงทุนนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บี.กริม. เพาเวอร์ มีแนวคิดว่าทำอย่างไรให้มีพลังงานสะอาดเพียงพอสำหรับการพัฒนาประเทศ ภาคผลิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ทำอย่างไรให้ยั่งยืนในตัวเอง เป็นแนวคิดมาตั้งแต่ผู้ก่อตั้ง บี.กริม. ที่มองระยะยาวถึงอนาคตและความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าราคา คิดและทำอะไรให้กับสังคมที่อยู่ด้วยกัน จากจุดเริ่มต้นนำเข้ายาจากเยอรมนีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และมองเห็นสิ่งที่ขาดตอนนั้นเรื่องคลองชลประทาน ได้สร้างคลองรังสิตขึ้นมาและใช้จนกระทั่งปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ปัจจุบันได้ทำพลังงานทดแทน

สิ่งเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาท่ามกลางความท้าทาย ส่งต่อปรัชญาธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ใช้หลักพุทธศาสนา พรมวิหาร 4 ช่วยปรับคลื่นสมองด้วยการเจริญสติ ดำเนินชีวิตต่อไป มีหลักค่านิยมให้ลำต้นแข็งแรงด้วยพลังคิดบวก ความซื่อสัตย์ พาร์ทเนอร์ชิพ การไม่หยุดนิ่งคิดค้นสิ่งใหม่ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง และการทำทุกอย่างแบบมืออาชีพ เป็นหลักคิดและการจัดการด้านความยั่งยืนของ บี.กริม.

“กลยุทธ์ของเรา green live strategy ส่งต่อพลังงานสม่ำเสมอตลอดเวลา เข้าถึงแหล่งพลังงาน เปิดเสรีนำเข้าพลังงานในรูปแบบ อื่นๆ เช่น แอมโมเนีย นวัตกรรมตอบโจทย์สังคมต่อไป“ ปัจจุบันบี.กริม.รุกไปใน 15 ประเทศ นำจุดแข็งแต่ละแห่งมาพัฒนาประเทศไทย ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการประเมินด้านพลังงาน ไปสู่การจัดการในรูปแบบต่างๆ เตรียมองค์ความรู้ที่ได้จากหลายๆ ประเทศมาประยุกต์ใช้

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายมากที่สุด ทุกหน่วยงานต้องพึ่งพากัน แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องใช้คนทั้งโลกร่วมแก้ปัญหา เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ดูจากเหตุการณ์ล่าสุด ดอยตุงฝนตกเกินปริมาณเกิดแลนด์สไลด์ 75 จุด ไฟฟ้าถูกตัดขาด เดินทางไปไม่ได้ การสร้างชีวิต Rebuild ต้องดูจะแก้ระยะกลาง ระยะยาวอย่างไร “ผมอยู่ดอยตุงมา 20 ปีต้องบอกว่าปีนี้รุนแรงที่สุด ทั้งพายุฝนถล่ม ดินถล่ม โชคดียังไม่ถล่มในหมู่บ้าน เราโชคดีมีทุนบริหารจัดการ ที่อื่นถ้าไม่พร้อมจะเป็นอย่างไร”  หากอุณหภูมิขึ้น 2 องศา ไม่แน่ใจว่ากาแฟจะยังมีคุณภาพอยู่หรือไม่ ดอยตุงเริ่มศึกษาและเตรียมพร้อมรับมือ โจทย์มีทั้งเรื่องเทคโนโลยีและสภาพอากาศ คนผลิตไปต่อไม่ได้ ผลผลิตตกลง ส่งผลกระทบแน่นอน ถ้ากาแฟราคาแพงขึ้นอาจไปต่อไม่ได้

“หลักสหประชาชาติที่บอกว่า อย่าทิ้งใครไว้เบื้องหลัง วันนี้เราทิ้งไว้มากมาย สิ่งสำคัญจึงต้องรวมพลังเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน สโคปลดคาร์บอนแต่ละคนไม่เหมือนกันจะแก้กันอย่างไร” ม.ล.ดิศปนัดดา บอกว่าทุกวันนี้มีองค์ความรู้ด้านยั่งยืนเยอะมาก ประสบการณ์ปลูกป่า 400,000 ไร่ ป่าชุมชนอีก 100,000 ไร่ จะทำอย่างไรเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านปลูกป่าและอนุรักษ์ป่า ให้ความสำคัญเท่ากันทุกคนเตรียมตัวหรือยังมีดาต้าหรือยัง ดอยตุงจึงตั้งหน่วยงานใหม่ 2 ยูนิต ขึ้นมาเพื่อช่วยนำนโยบายความยั่งยืนของบริษัทไปสู่ชุมชน และเริ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์ Carbon-Neutral Coffee บอกต่อการไม่บุกรุกป่า กาแฟไม่รุกป่า ถ้าประเทศไทยเตรียมการล่วงหน้าจะดีกว่าประเทศอื่นๆ ถ้าทำได้จะเป็นเกมเชนเจอร์ในภูมิภาค เอกชนทุกบริษัทต้องลุกขึ้นมาหา ถ้าได้ทำงานด้วยกันในแต่ละสโคป ตอนนี้เวลาไม่มีแล้ว ต้องหาพาร์ตเนอร์เพื่อเดินไปได้เร็วไม่งั้นเปลี่ยนไม่ทันเวลา

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ความท้าทายสำคัญคือ ดีโกลบอลไลเซชั่นต่างคนต่างทำ เครือซีพีมีอยู่ใน 21 ประเทศ สามารถผนวกกับความยั่งยืนเป็นดับเบิลมาตรการ อาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่เรื่องความยั่งยืนเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย

เรื่องความยั่งยืนควรจะอยู่กับกลยุทธ์องค์กร ดิจิทัลไลเซชั่นที่พูดนี้ขาดเทคโนโลยีไม่ได้ ทุกอย่างต้องพึ่งเทคโนโลยี เช่น การนำข้อมูลมาพัฒนาการปลูกข้าวด้วยการทำนาแห้งสลับนาเปียก เป็นข้าวโลว์คาร์บอน จะทำอย่างไรแปลงภาษาที่ฟังยากๆ ให้ง่ายขึ้นเพื่อเข้าหาชุมชน

ที่ผ่านมาเรามี UNGCNT เป็นหน่วยงานเอกชนที่แปลงสู่การปฏิบัติและการเชื่อมโยงตลาด โจทย์ยากในปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมคือคนไปอยู่บนเขาปลูกข้าวโพดบุกรุก เผาป่า แม้ประกาศไม่รับซื้อในพื้นที่แต่ปัญหาก็ไม่จบ เอกชนแก้ปัญหาการเผาป่าโดยทำโมเดลร่วมกับซีพีเมียนมาร์ แก้ปัญหาเรื่อง Food security ได้

“รอบบ้านเราทำผลผลิตสูงกว่าเรา ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนแก้ปัญหาไม่ได้ ตลาดใหญ่มากทุกคนบนโลกนี้ประกาศร่วมกัน ทุกอย่างที่เราคิด ถ้าเชื่อมโยงตลาดไม่ได้เป็นซีเอสอาร์ แต่ถ้าเชื่อมโยงตลาดได้เป็นความยั่งยืน”

ปัญหาต่างๆ ทำให้มีคัลเจอร์มาขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ต้องเริ่มสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีมายด์เซ็ทด้านความยั่งยืน ต้องฝากอนาคตไว้กับ 2 เจนเนอเรชั่น และเอ็มพาวเวอร์ให้คนรุ่นถัดไปทำ เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำจริงการโน้มน้าวให้ทุกคนร่วมด้วยจะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจรับไอเดีย “เทคโนโลยีสำคัญ ประเทศไทยเป็นซูเปอร์ยูสเซอร์ เราซื้อตลอด เทคโนโลยีเราจำเป็นต้องมี R&D ไทยควรเก่งเรื่องพันธุ์ข้าวเพราะเราปลูกมากที่สุดแต่ก็ยังไม่เจอ” นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาคือไทยเป็นการเข้าถึงเทคโนโลยีในแง่การเป็นยูสเซอร์ และขาดแคลนเรื่องการทำวิจัยและพัฒนา