In Bangkok

สั่งทบทวนทะเบียนความเสี่ยงกทม.ใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน



กรุงเทพฯ-(27 เม.ย. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมบริหารความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และผ่านระบบออนไลน์

การบริหารความเสี่ยงของกรุงเทพมหานครในช่วงปี พ.ศ.2561 กรุงเทพมหานครโดยสำนักงานตรวจสอบภายในจัดทำทะเบียนความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานคร จากข้อตรวจพบในการตรวจสอบความเห็นของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานกทม. จำนวน 13 ทะเบียน ประกอบด้วย 2 ด้านหลัก คือความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ (Disaster Risks) ประกอบด้วย อุทกภัย อัคคีภัย แผ่นดินไหว โรคระบาด สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การก่อการร้าย ความขัดแย้งของคนในชาติ การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์ และด้านการดำเนินงาน (Operation Risks) ประกอบด้วย เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การบริหารงานบุคคล การทุจริต

เนื่องด้วยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลในฐานะผู้รับผิดชอบงานบริหารความเสี่ยงของกรุงเทพมหานคร ณ ปัจจุบัน เห็นว่าความเสี่ยงเดิมไม่ครอบคลุมและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ควรมีการทบทวนทะเบียนความเสี่ยงฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ทั้ง 13 ภารกิจใหม่ ซึ่งพิจารณาจากการดำเนินงานตามตัวชี้วัดการพัฒนา กทม. และข้อสังเกต ข้อเสนอแนะการจัดการความเสี่ยง (ของสำนักงานตรวจสอบภายใน) ที่พบประเด็นสำคัญหลายประเด็น จึงเสนอการจัดกรอบการบริหารความเสี่ยงฯ ใหม่ (ยังคงไว้ซึ่งความเสี่ยงทั้ง 13 ทะเบียน) เป็น 4 ประเภทที่ครอบคลุมประเภทความเสี่ยง ทั้ง ความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน (Operational Risk) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ (Compliance Risk) 

ทั้งนี้รองผู้ว่าฯ ทวิดา ขอให้มีการทบทวนทะเบียนความเสี่ยงฯ ใหม่อีกครั้งอย่างจริงจัง เนื่องจากทั้ง 13 ทะเบียนที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่ครอบคลุม เช่น ไม่มีความเสี่ยงด้านวาตภัย เป็นต้น ต้องสร้างกลไกวิเคราะห์ความเสี่ยงโดยมีบุคคลที่รู้งานสามารถคาดการณ์การเกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ปรับปรุงรูปแบบวิธีการความเสี่ยงให้เหมาะสมกับกรุงเทพมหานคร และต้องขยายการบริหารจัดการความเสี่ยงในเชิงพื้นที่ รวมถึงวางแผนการสื่อสารถ่ายทอดกลไกให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า ต้องสร้างความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน และเสนอเพิ่มประเด็นความเสี่ยงการจัดการด้านเทคโนโลยีด้วย

ในการนี้มี แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ และ นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก ผู้อำนวยการสำนักการคลัง สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้แทนสำนักงานตรวจสอบภายใน ผู้แทนสำนักงาน ก.ก. เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้